xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์รับแจ้งต่างด้าวทำงาน 4 วัน ยื่นคำขอกว่า 1.5 แสนราย ยันไม่มีจับกุมขณะตรวจสัญชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน เผย 4 วัน ศูนย์รับแจ้งต่างด้าวทำงานแล้วกว่า 1.5 แสนราย เป็นกิจการเกษตร และ ปศุสัตว์ มากสุด กทม. ยังครองแชมป์ยื่นคำขอ ยันไม่มีการจับกุมขณะมาตรวจสัญชาติ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. จนถึงวันที่ 27 ก.ค. ทั่วประเทศ 100 ศูนย์ พบว่า มีนายจ้างมาแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าวแล้ว 47,511 ราย ลูกจ้างต่างด้าว 152,718 คน เฉพาะวันที่ 27 ก.ค. วันเดียว มีนายจ้างมายื่น 10,360 ราย ลูกจ้าง 31,409 คน และมีนายจ้างลงทะเบียนออนไลน์ 532 ราย ลูกจ้าง 1,186 คน ได้รับแจ้งการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่ามากที่สุด เมื่อจำแนกตามประเภทกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ เกษตร และ ปศุสัตว์ จังหวัดที่มีการยื่นขอจ้างคนต่างด้าวมากที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ระยอง ปทุมธานี และเชียงใหม่

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวเข้าใจผิดหากเดินทางมาที่ศูนย์รับแจ้งฯ และไปตรวจสัญชาติจะถูกจับกุมดำเนินคดี ว่า ขอให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวสบายใจได้ว่าจะไม่ถูกจับกุม และดำเนินคดีแต่อย่างใด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการชะลอบทลงโทษในมาตรา 101 102 119 และ 122 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 จำนวน 180 วัน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังนั้น นายจ้างและแรงงานต่างด้าวจึงยังไม่ต้องรับโทษ สำหรับศูนย์รับแจ้งฯ จะให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารใดๆ แสดงตน แต่ยังคงทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยให้สามารถทำงานได้ต่อไป ซึ่งในส่วนของเอกสารก็ไม่ยุ่งยาก มีเพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายจ้าง สำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคล เฉพาะหน้าแรก กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล รูปถ่ายแรงงานต่างด้าว และแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว ซึ่งสามารถโหลดเอกสารได้ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน และหลังจากนายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวแล้วเจ้าหน้าที่จะนัดให้นายจ้างพาลูกจ้างมาสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบความเป็นนายจ้าง - ลูกจ้าง หากพบเป็นนายจ้าง - ลูกจ้างจริง เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารรับรองการเดินทางเพื่อไปตรวจสัญชาติกับประเทศต้นทาง ซึ่งเมียนมา และ กัมพูชา ได้อำนวยความสะดวก โดยเข้ามาตรวจสัญชาติแรงงานของตนในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งศูนย์ OSS ขึ้น ณ จุดตรวจสัญชาติ โดยในระหว่างที่คนต่างด้าวเดินทางไปตรวจสัญชาติ หรือจัดทำ PP TP TD CI หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ ทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร เพื่อดำเนินการตรวจสัญชาติดังกล่าว ให้ได้รับการยกเว้นเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

นายวรานนท์ กล่าวว่า ส่วนการประชุมร่วมกับ นายเส็ง ศักดา อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชาได้ชี้แจงขั้นตอนการตรวจสัญชาติแรงงานกัมพูชาที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มบัตรชมพูจะดำเนินการตรวจสัญชาติที่จังหวัดระยอง ช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ ให้นายจ้างหรือแรงงานชำระค่าธรรมเนียม TD ที่ศูนย์ตรวจสัญชาติ จำนวน 2,350 บาท และจะได้รับเล่มภายในวันเดียวกัน 2) กลุ่มไม่มีเอกสารแสดงตน โดยจะออกเป็นเอกสารเดินทาง (TD) เปิดศูนย์ฯในรูปแบบ One Stop Service (OSS) ดำเนินการในประเทศไทย เริ่มที่จังหวัดระยอง สงขลา และ กรุงเทพฯ มีบุคลากร 20 ทีมๆ ละ 7 คน พร้อมอุปกรณ์การทำเอกสารเดินทาง สำหรับความคืบหน้าในการส่งมอบหนังสือเดินทาง (passport : PP) เอกสารเดินทาง (travel document :TD) ให้กับแรงงานกัมพูชา ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 160,000 เล่มนั้น จะใช้ระยะเวลา 100 วัน แจกให้กับบริษัทที่มีแรงงาน 70 คนขึ้นไป กว่า 200 แห่ง ซึ่งปัจจุบันฝ่ายกัมพูชามีทีมงาน 4 ทีม แจกได้ 500 เล่มต่อวัน และจะเพิ่มอีก 4 ทีม เพื่อให้ดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับแรงงานที่ทำงาน บริเวณชายแดนในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล โดยฝ่ายกัมพูชาจะเปิดศูนย์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับศูนย์แรกรับฯ ของไทย ที่ปอยเปต จังหวัดบันเตีย-เมียนเจย โดยมีการฝึกอบรมแรงงานก่อนเดินทางไปทำงานที่ประเทศไทย รับผิดชอบในการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ศูนย์นี้จะออกหนังสือรับรองแรงงานกัมพูชาบริเวณชายแดนลักษณะเช้าไป - กลับ หรือตามฤดูกาล (บัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน overseas cambodian worker card : OCWC) ใช้คู่กับบัตรผ่านแดน (border pass) ซึ่งแรงงานสามารถข้ามแดนและไปทำงานได้ด้วย มี 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และ ตราด

“ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ฝ่ายกัมพูชาทราบว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้ตรวจสอบบุคคล (immigration card) โดยมีการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อใช้ตรวจสอบป้องกันปัญหาอาชญากรรม ป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง และ การค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ ดังนั้น หากทั้งสองประเทศได้ทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคต ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเห็นด้วยและจะนำไปหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองราชอาณาจักรกัมพูชาต่อไป” นายวรานนท์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น