xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 9 คำฮิตติดปากวัยรุ่น “ลำไย-ตะมุตะมิ-นก-จุงเบย-โดนเท” มาแรงใช้บ่อยสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วธ. เผยผลโพล วันภาษาไทย เปิด 9 คำฮิตติดปากวัยรุ่น พบ “ลำไย - ตะมุตะมิ - นก” ใช้บ่อยสุด 3 อันดับแรก ห่วงยังเจอปัญหาพูด - เขียน - อ่าน ชี้ คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือผ่านระบบออนไลน์ มากที่สุด เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2560 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นเยาวชนและประชาชน ในหัวข้อ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จากกลุ่มตัวอย่าง 3,306 คน ทั่วประเทศ โดยผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.43 ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี เมื่อถามถึงผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านภาษาไทยที่นึกถึงมากที่สุด ร้อยละ 83.45 ตอบว่า สุนทรภู่ ร้อยละ 41.16 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร้อยละ 39.38 นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือ ครูลิลลี่ ร้อยละ 38.43 นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ ร้อยละ 37.60 ครูทอม คำไทย “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่” เมื่อสอบถามถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันและเรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.02 ระบุว่า การพูด เพราะเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงควรมีการพูดที่ถูกต้องจะเป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 37.17 ระบุว่า การเขียน เนื่องจากปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้น จึงอยากให้คนไทยได้เขียนหนังสือที่ถูกต้อง และ ร้อยละ 23.81 การอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็ก ทำให้รอบรู้ทันโลกทันเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาสติปัญญา

เมื่อถามถึงคำศัพท์ยอดฮิตของวัยรุ่นในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 39.44 ระบุว่า “ลำไย” ซึ่งหมายถึง รำคาญ รองลงมา ร้อยละ 36.86 “ตะมุตะมิ” หมายถึง น่ารักน่าเอ็นดู ร้อยละ 36.23 ระบุว่า “นก” หมายถึง อ่อยเขาแต่เขาไม่เอา ร้อยละ 34.67 คำว่า “จุงเบย” หมายถึง น่ารักแสดงความแอ๊บแบ๊ว ร้อยละ 34 บอกว่า “เท/โดนเท” หมายถึง โดนทิ้ง ร้อยละ 33.61 “อิอิ” คือ เสียงหัวเราะ ร้อยละ 30.12 “เปย์/สายเปย์” หมายถึง ชอบจ่ายให้ ร้อยละ 27.28 “เตง/ตะเอง/ตัลเอง” คือ ตัวเอง และร้อยละ 26.06 บอกว่า “มุ้งมิ้ง” หมายถึง น่ารัก

ส่วนความคิดเห็น เรื่องเวลาในการอ่านหนังสือผ่านสื่อต่างๆ ในแต่ละวัน พบว่า ร้อยละ 56.59 สื่อออนไลน์ โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมา ร้อยละ 37.42 หนังสือ/เอกสาร ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1.30 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 36.90 อ่านหนังสือพิมพ์ ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 20.47 วิดีโอ/ซีดี/ดีวีดี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 18.63 อ่านวารสารทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน

นายวีระ กล่าวว่า จากผลสำรวจครั้งนี้มีได้มีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงวัฒนธรรม และทุกภาคส่วน ถึงแนวทางกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ดังนี้ อันดับ 1 จัดกิจกรรมรณรงค์การสร้างจิตสำนึกในการรักการอ่าน เช่น ส่งเสริมการอ่าน รณรงค์ให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น จัดกิจกรรมการเรียนรู้การใช้ภาษาไทยในโรงเรียน จัดโครงการเสริมสร้างภาษาไทยและจัดตั้งชมรมการใช้ภาษาไทยอันดับ 2 ควรมีการประกวดการใช้ภาษาไทย/ทดสอบการใช้ภาษาไทยดีเด่น เช่น การเขียนเรียงความคัดไทย แต่งกลอน เกมการแข่งขันเกี่ยวกับภาษาไทยทุกปี มีรางวัลเป็นสิ่งดึงดูดใจ อันดับ 3 รณรงค์โดยการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งทำให้คนไทยเข้าถึงได้ง่าย/มีแอปพลิเคชั่น พจนานุกรมให้ดาวน์โหลด นำมาใช้โดยมีการเขียนที่ถูกต้อง/การทำเว็บไซต์ต่างๆ และเกมที่เกี่ยวกับภาษาไทย อันดับ 4 อบรมการใช้ภาษาไทย การเขียน อ่าน พูด ภาษาไทยให้ถูกต้อง อันดับ 5 จัดให้มีวิชาการอ่านในหลักสูตร/เพิ่มเวลาการอ่านหนังสือในคาบเวลาเรียน เพื่อทำให้เด็กอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง

ตัวอย่างสถานการณ์การใช้คำศัพท์ยอดฮิตในวัยรุ่น





กำลังโหลดความคิดเห็น