เผย 3 พื้นที่พบโรคพิษสุนัขบ้าระบาด ทั้งกลุ่มจังหวัดเขตเศรษฐกิพิเศษ อีสานใต้ และ ตามแนวชายแดน ส่งผลนำเข้าวัคซีนเพื่อป้องกันมากขึ้น คร. เผยกฤษฎีกาตีความ อปท. ซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าได้ ย้ำ หน้าที่มหาดไทยคุยกับ สตง.
จากกรณีรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ออกมาให้ข้อมูลว่า เทศบาลถูกตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณ และไม่มีอำนาจในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าถึง 15 ราย
วันนี้ (24 ก.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2559 สูงขึ้นจริง แต่ปี 2560 ลดลงแล้ว ส่วนการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบและท้วงติงเรื่อง อปท. ใช้งบในการซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้านั้น ที่ทราบคือ มีการส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าสามารถซื้อได้ และได้มีการเบิกซื้อวัคซีนแล้ว ดังนั้น เป็นหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยต้องหารือกับทาง สตง.
นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป คร. กล่าวว่า ที่พบโรคพิษสุนัขบ้ามากขึ้น เพราะมีการเฝ้าระวังในเชิงรุกของกรมปศุสัตว์ และมีการส่งหัวสุนัขตรวจมากขึ้น ส่วนสถานการณ์โรคปี 2560 พบโรคในสุนัขและแมวร้อยละ 17 สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแบ่งออกเป็น ส่วนของ อปท. ที่ซื้อวัคซีนฉีดสุนัขในพื้นที่ของตน และกรมปศุสัตว์ที่จะซื้อวัคซีนเพื่อฉีดในส่วนของป้องกันโรคระบาดในสุนัขจรจัด และส่วนกรมควบคุมโรค จะเป็นวัคซีนป้องกันในคน โดยแต่ละปีมีจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าประมาณ 2 - 3 แสนคน สำหรับวัคซีนที่ฉีดทั้งในมนุษย์และสัตว์ มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีการตรวจสอบคุณภาพถึง 2 ขั้นตอน ทั้งโรงงานผลิตจากประเทศต้นทางว่าผ่านคุณภาพหรือไม่ ตรวจเมื่อเข้ามาในประเทศ
“หากถูกสุนัขที่สงสัยป่วยพิษสุนัขบ้ากัด หรือไม่แน่ใจ ต้องพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน โดยปกติจะฉีด 5 เข็ม และฉีดเซรุ่มพิษสุนัขบ้า (สารสกัดน้ำเหลือง) อีก 1 เข็ม แต่กรณีหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 14 วัน สุนัขหรือแมวที่กัดไม่เจ็บป่วยหรือตาย แพทย์ก็จะพิจารณาตามแนวทางเวชปฏิบัติอีกครั้ง สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้น ยึดหลัก 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ขณะที่สุนัขที่เลี้ยงขออย่าเลี้ยงปล่อย เพราะอาจเสี่ยงรับเชื้อจากสุนัขแหล่งอื่นได้” นสพ.พรพิทักษ์ กล่าว
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพบว่า มี 3 พื้นที่ที่พบการเกิดโรค คือ 1. กลุ่มเศรษฐกิจพิเศษมี 4 จังหวัด คือ กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และ ชลบุรี 2. พื้นที่อีสานใต้ คือ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี และ 3. ตามแนวชายแดนทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งไม่ติดกับพื้นที่เข้าออกสะดวก และมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ มี ตาก และ กาญจนบุรี และอีกฝั่ง คือ เชียงราย อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่เมื่อพบโรค กรมปศุสัตว์จะประกาศเป็นพื้นที่โรคระบาดพิษสุนัขบ้าทันที และตีวง 3 กิโลเมตรในรัศมี ป้องกันโดยใช้วัคซีน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการนำเข้าวัคซีนมากขึ้น และเป็นปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ ขณะที่ อปท. เจอปัญหาหนัก เนื่องจากที่ผ่านมาถูก สตง. ท้วงติงในการซื้อวัคซีนว่าไม่ถูกประเภท เพราะที่ผ่านมา งบตรงนี้จะใช้ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ขอให้เปลี่ยนไปใช้เป็นกลุ่มเวชภัณฑ์แทน ซึ่งจุดนี้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการซื้อ อาจทำให้เกิดปัญหาติดขัด