กรมอนามัย เร่งจัดทำร่างมาตรฐานคุณภาพ “น้ำบริโภค” กลางของประเทศ ให้เป็นเกณฑ์ให้ทุกหน่วยงานใช้ในการผลิตน้ำ ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานน้ำ
วันนี้ (21 ก.ค.) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเคมี สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และยากำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในประเทศของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย โดยใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2559 น้ำบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย ร้อยละ 60 จำนวนนี้แบ่งเป็นมาตรฐานด้านกายภาพร้อยละ 30 เคมีร้อยละ 15 และชีวภาพ ร้อยละ 70
นพ.ดนัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้พิจารณากำหนดเกณฑ์คุณภาพน้ำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันให้ครอบคลุมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคได้อ้างอิงเกณฑ์คุณภาพที่แตกต่างกัน อาทิ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค อ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ต้องอ้างอิงหลายมาตรฐาน กรมอนามัยจึงเป็นแกนหลักในการจัดทำมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค ได้แก่ น้ำประปา น้ำประปาภูเขา น้ำบ่อบาดาล น้ำผิวดิน และน้ำฝน
“ขณะนี้ ได้จัดทำเป็นร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทยขึ้นมา พร้อมทั้งจัดทำประชาพิจารณ์ โดยเชิญหน่วยงานภาคีเครือข่ายและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมระดมสมอง กลั่นกรอง และพิจารณาทั้งด้านความถูกต้องของเนื้อหาวิชาการ ความคุ้มค่าในการลงทุน ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และศักยภาพของห้องปฏิบัติการ เปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย และเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพน้ำบริโภคในภาพรวมของประเทศ หากได้มาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทยที่ผ่านการพิจารณาจากทุกภาคส่วนแล้ว จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว