xs
xsm
sm
md
lg

ดื่มเหล้าจัด ทำ “ข้อสะโพก” เสื่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...นพ.พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิคการซ่อนแผลผ่าตัด โรงพยาบาลกรุงเทพ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เคยระบุว่า คนไทยดื่มเหล้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด เห็นได้จากสถิติอุบัติเหตุในทุกช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว นอกจากนี้ ผลจากการดื่มสุรายังทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท และอาชญากรรม รวมถึงผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพด้วย โดยเฉพาะผลกระทบต่อกระดูกข้อสะโพก ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคข้อสะโพกมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น มีอุบัติการณ์ของการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมปีละกว่า 25,000 ราย พบได้ทั้งหญิงและชาย พบมากขึ้นในอายุ 40 ปีขึ้นไป โรคข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัย โดยมักจะเกิดจากการสึกหรอของผิวข้อต่อระหว่างกระดูกเบ้าสะโพกและกระดูกต้นขา รวมไปถึงการทรุดตัวของหัวกระดูกต้นขา กระดูกสะโพกหัก โรคหัวกระดูกสะโพกตาย

ส่วนวัยกลางคนจากสถิติ พบว่า มีปัญหากระดูกสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน สาเหตุเนื่องมาจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะจะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงข้อสะโพกลดลง ทำให้กระดูกส่วนนั้นยุบหรือตาย กระดูกก็จะอ่อนแอทำให้ผิวเริ่มอักเสบ ขรุขระ ในบางคนทานยาที่มีส่วนผสมของ สเตียรอยด์ปริมาณมาก ส่งผลให้เลือดหนืดไหลเวียนไม่ดีไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกได้

ทั้งนี้ เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อนั้น โดยปกติแล้วแนวแผลผ่าตัดจะอยู่บริเวณหน้าต้นขา ซึ่งอาจจะเห็นแผลได้ง่าย แต่ด้วยเทคนิคการลงแผลแบบใหม่ จะมีการการซ่อนแผลผ่าตัดใต้ต่อขาหนีบ หรือที่เรียกว่า BIKINI Incision ซึ่งก่อนจะทำการผ่าตัด แพทย์จะใช้ Digital Template Surgical Planning วางแผนถึงตำแหน่งการตัดกระดูกและการวางข้อสะโพกเทียมในตำแหน่งที่ถูกต้อง เลือกขนาดของข้อเทียมให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล มีทั้งข้อโคบอลโครเมียม (Cobalt Chromium) หรือ ข้อเซรามิก (Ceramic) เพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และใช้แกนกระดูกข้อเทียมรุ่นใหม่ (STEM) เพื่อแก้ไขปัญหาข้อสะโพกเทียมจมเมื่อใช้ไปนานๆ

จากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดแบบแผลเล็ก แบบซ่อนแผลผ่าตัด (Minimally Invasive Surgery: MIS) โดยเข้าจากด้านหน้าข้อสะโพก (Direct Anterior Approach) ที่สำคัญ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ด้วยเทคนิคซ่อนแผลผ่าตัด แนบเนียน เพราะแผลผ่าตัดจะอยู่ด้านหน้าบริเวณขาหนีบซ่อนใต้แนวกางเกงใน (Bikini Incision) ทำให้ไม่เห็นรอยแผลเมื่อใส่กางเกงขาสั้นหรือชุดว่ายน้ำ เพราะเป็นการผ่าตามทิศทางธรรมชาติของผิวหนัง (Langer's line) ตามแนวเส้นใยคอลลาเจนของผิวหนังชั้น dermis ซึ่งเป็นแนวที่ขนานไปกับแนวเส้นมัดกล้ามเนื้อ การผ่าตามแนวทิศทางธรรมชาติของผิวหนังจะทำให้การสมานตัวของแผลผ่าตัดดีขึ้น จึงลดการเกิดแผลเป็น หรือ คีรอยด์ (Keloid)

ขนาดของบาดแผลผ่าตัดนั้นจะมีความยาวประมาณ 3 - 4 นิ้ว ใต้ต่อขาหนีบตามแนวกางเกงในของผู้ป่วย และยังมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (แบบเดิมแผลยาวประมาณ 6 - 8 นิ้ว เพราะจะทำการผ่าตัดจากทางด้านหลังหรือด้านข้าง ซึ่งต้องมีการตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก อาจทำให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อรอบสะโพกอ่อนแรง เดินกะเผลก (Limping) และมีอัตราการหลุดของข้อสะโพกหลังผ่าตัดเพิ่มขึ้น)

การผ่าตัดแนวใหม่นี้มีความแม่นยำในการเช็กความยาวขาและตำแหน่งของข้อสะโพกเทียมได้ดีขึ้นเพราะเป็นการผ่าตัดในท่านอนหงาย สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์แบบ C-arm ช่วยวางตำแหน่งข้อเทียมให้ถูกต้องมากขึ้น ตรวจความยาวขาทั้งสองข้างให้เท่ากันได้ง่ายในขณะผ่าตัด จึงลดปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากันหลังผ่าตัด และสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกพร้อมกัน 2 ข้างได้ในครั้งเดียว อีกทั้งระหว่างผ่าตัดมีระบบป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด แพทย์จะใส่ชุดผ่าตัดพิเศษเหมือนชุดมนุษย์อวกาศ ช่วยลดอัตราการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้อีกด้วย

ข้อดีของการผ่าตัดแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อนั้นจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บปวดน้อยลง ลดอัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังการผ่า ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อสะโพกจะหลุด (No Hip Precaution) สามารถลุกเดินได้โดยไม่มีการเอียงของลำตัว (No Limping) กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด ด้วยเครื่องหัดเดินในสภาวะไร้น้ำหนัก Alter G (Anti-Gravity Treadmill) ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่า ช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดได้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องกังวลถึงความเจ็บปวด
กำลังโหลดความคิดเห็น