กพร.ปช. เร่งเดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมสุขภาพและอาหาร 5 ปี รองรับการขยายตัวต่อเนื่อง เผย อุตสาหกรรมสุขภาพสร้างรายได้กว่า 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน ต้องการแรงงานเพิ่มอีกกว่า 5.6 หมื่นคน อาหารต้องการอีกกว่า 1.2 แสนคน
วันนี้ (19 ก.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2560 โดย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ก.แรงงาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพทุกรายสาขา กพร.ปช. จึงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2561 - 2565 เพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถรองรับความต้องการทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ ประสิทธิภาพและได้รับมาตรฐานระดับสากล
“ปัจจุบันทั้งสองอุตสาหกรรมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการสุขภาพสร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 4 หมื่น 5 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารมีเงินลงทุนสะสมกว่า 5 แสนล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน และในอนาคตการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายการค้า การลงทุน และกำลังแรงงาน ในกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาเซียน+3 อาเซียน+6 จะเป็นส่วนสนับสนุนให้อุตสาหกรรมมีศักยภาพและเติบโตอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมกับรัฐบาลได้กำหนดให้เป็น อุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Growth Engine) ต่างส่งผลอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอุตสาหกรรมอาหารมีความต้องการแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก ในช่วงระหว่างปี 2561-2565 ต้องการจะแรงงานภาคการผลิตและภาคการพัฒนาด้านบริการสุขภาพ 56,000 คน ในด้านอาหารในส่วนของภาคการพัฒนาจำนวน 127,314 คน การจัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมการพัฒนากำลังคนทั้งสองอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก” รมว.แรงงาน กล่าว
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กพร.ปช. ได้ดำเนินการยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2561-2565 แบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน/มาตรฐานอาชีพ/คุณวุฒิวิชาชีพและหลักสูตร เฉพาะด้านสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอุตสาหกรรมอาหาร ยุทธศาสตร์ที่ 2 ผลิตและพัฒนาบุคลากรในตำแหน่งงานหลักของอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอุตสาหกรรมอาหารเทียบเท่ามาตรฐานสากล และยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอุตสาหกรรมอาหาร โดยวางเป้าหมายสำคัญ เช่น ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดตั้งสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในแต่ละด้านการสร้างระบบฐานข้อมูลกำลังคน พัฒนาหลักสูตรกลางในการฝึกอบรม ส่งเสริมการฝึกอบรมตามพรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารจะผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ช่างเทคนิค 9,600 คน และเมื่อรวมการผลิตพัฒนาบุคลากรด้านนี้จะมีทั้งสิ้น 126,600 คน
“ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีการนำเสนอในที่การประชุม โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประชุม หลังจากนั้น ทาง กพร.ปช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังแรงงานด้านบริการสุขภาพและอาหารต่อไป” อธิบดี กพร. กล่าว