กรมศิลป์เตรียมดัน "เมืองโบราณศรีเทพ" จ.เพชรบูรณ์ เข้าลิสต์มรดกโลก เผยพบหลักฐานหลายอย่างสะท้อนความยิ่งใหญ่อาณาจักรโบราณ ทั้งเทวสถาน จารึกภาษาสันสกฤตบอกเล่าพระราชกรณียกิจพระมหากษัตริย์
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล “เส้นทางสู่มรดกโลกของเมืองโบราณศรีเทพ” ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้มีการพิจารณาเห็นว่าเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความเชื่อ การเมืองการปกครองและศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 1,700 ปีก่อน ต่อเนื่องจนถึงยุคประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 และวัฒนธรรมขอมโบราณ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ซึ่งมีคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล ด้านวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลก ตรงกับหลักเกณฑ์ที่ 2 การแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือในพื้นที่วัฒนธรรมใดๆ ของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี ศิลปะสถาปัตยกรรม การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
ดังนั้น กรมศิลปากรจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี สถาปัตยกรรม และ สภาวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ มาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการรวบรวมองค์ความรู้ในการสนับสนุนการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นและผลักดันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรจะมีการประมวลผล และศึกษาข้อมูลวิชาการและประวัติศาสตร์สมัยทวารวดีเพิ่มเติม โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และมีการขุดค้นเพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำเอกสารประกอบการนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ก่อนเสนอมรดกโลกต่อไป
ด้าน น.ส.พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) กรมศิลปากร กล่าวว่า เมืองโบราณศรีเทพ มีการค้นหลักฐานทางโบราณคดี คือ กระดูกมนุษย์ที่ฝังอยู่พื้นที่เดียวกันในลักษณะหลุมฝังศพ ร่วมกับเครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ นอกจากนี้ ยังพบว่า พุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ช่วงที่รับวัฒนธรรมทวารวดี มีการขุดคูน้ำรอบเมือง และมีการก่อสร้างศาสนสถานหลายแห่ง โดยมีเทวสถานที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และ ปรางค์ศรีเทพ รวมทั้งมีร่องรอยการคัดแปลงเทวสถานให้เป็นวัดในพุทธศาสนาด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีการค้นพบจารึกอักษรปัลลวะบันทึกภาษาสันสกฤต บอกเล่าพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ และผู้เป็นใหญ่ในอาณาจักร คือ พระเจ้าศรีภววรมัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโบราณแห่งนี้ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างภาคกลาง และภาคอีสาน และมีลักษณะทางศิลปกรรมผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมแบบทวารวดีในภาคกลางและวัฒนธรรมเขมรในภาคอีสานด้วย