xs
xsm
sm
md
lg

หนุนสร้างบ้านใหม่ชุมชนคลองเตย - ท่าเรือฯ เตรียมแผนพัฒนา 2 พันไร่ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ให้แก่ชาวชุมชนคลองเตยที่บ้านถูกไฟใหม้
มูลนิธิดวงประทีป - เมอร์ซี่ - พอช. ร่วมสนับสนุนสร้างบ้านใหม่ให้ชาวชุมชนริมคลองวัดสะพาน เขตคลองเตย ที่ถูกไฟไหม้ รวม 35 หลัง ขณะที่ การท่าเรือฯ เตรียมเสนอแผนงานต่อกระทรวงคมนาคม นำที่ดินคลองเตย 2,000 ไร่ มาพัฒนาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ‘ครูประทีป’ เสนอแนวคิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ด้วย

ภายหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวน 56 หลัง ซึ่งต่อมาหน่วยงานต่างๆ เช่น มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิเมอร์ซี่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้สร้างบ้านใหม่นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ชุมชนริมคลองวัดสะพาน เขตคลองเตย ได้มีพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ให้แก่ชาวชุมชนที่โดนไฟไหม้ชุมชน และมอบงบประมาณสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวน 35 หลังคาเรือน โดยมี ร้อยตำรวจโท ประจักษ์ ศรีวรรธนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธี และมี นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ พอช. พร้อมกับผู้แทนเครือข่ายชุมชนในเขตคลองเตย และชาวบ้านเข้าร่วมงานประมาณ 100 คน

นายจริน มาลาขาว ประธานชุมชนริมคลองวัดสะพาน กล่าวว่า ชุมชนริมคลองวัดสะพานมีบ้านเรือนทั้งหมดประมาณ 200 หลัง อยู่ติดกับคลองพระโขนง สภาพเป็นชุมชนแออัด ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และมีรายได้น้อย ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้จำนวน 56 หลัง จากทั้งหมดที่มีอยู่รวม 75 ครัวเรือน โดยมีบ้านเรือนถูกไฟไหม้ทั้งหลังจำนวน 35 หลังคาเรือน ในจำนวนนี้มีบ้านที่ชาวบ้านจะสร้างเองจำนวน 20 หลัง และอีก 15 หลังจะเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.

“หลังจากเกิดไฟไหม้แล้ว คณะกรรมการชุมชนได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนของชาวบ้าน แล้วนำไปวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยชาวบ้านที่ถูกไฟไหม้มีความต้องการจะอยู่อาศัยในที่ดินเดิม จึงตกลงจะสร้างบ้านใหม่ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน มีการออกแบบบ้านและผังชุมชนใหม่ร่วมกัน เนื่องจากสภาพชุมชนเดิมมีความแออัด มีทางเดินคับแคบ จึงออกแบบใหม่ให้มีถนนและทางเดินคอนกรีตเข้าถึงชุมชน” นายจริน กล่าว
(จากซ้าย) นางประทีป  อึ้งทรงธรรม  ฮาตะ  เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป,  ร้อยตำรวจโทประจักษ์  ศรีวรรธนะ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  การท่าเรือแห่งประเทศไทย  และ นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  รองผู้อำนวยการ  รักษาการผู้อำนวยการ พอช.
สำหรับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนหลังละ 36,000 บาท มูลนิธิดวงประทีป หลังละ 20,000 บาท มูลนิธิเมอร์ซี่ หลังละ 12,000 บาท เงินบริจาคหลังละ 16,000 บาท และ พอช. อุดหนุนงบช่วยเหลือไฟไหม้หลังละ 18,000 บาท และงบอุดหนุนบ้านมั่นคง หลังละ 25,000 บาท รวมงบสนับสนุนสร้างบ้านใหม่ทั้งหมดหลังละ 127,000 บาท นอกจากนี้ พอช. ยังมอบงบประมาณสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคชุมชน เช่น ไฟฟ้า ถนน ทางเดิน ฯลฯ รวม 750,000 บาท

ส่วนแบบบ้านจะมีทั้งหมด 4 แบบ คือ บ้านแฝดชั้นเดียว, บ้านแฝด 2 ชั้น, บ้านเดี่ยวชั้นเดียว และบ้านแฝด 2 ชั้น ขนาดเนื้อที่เท่ากัน คือ 4 X 7 ตารางเมตร ราคาค่าก่อสร้างตั้งแต่ 133,325-243,520 บาท ซึ่งขณะนี้บ้านที่ชาวบ้านก่อสร้างเองจำนวน 20 หลัง ก่อสร้างเกือบจะเสร็จทั้งหมดแล้ว ส่วนบ้านที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงจำนวน 15 หลัง ขณะนี้ก่อสร้างงานฐานรากไปแล้ว 10 หลัง ตามแผนงานการก่อสร้างทั้ง 15 หลังจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้การสร้างบ้านใหม่นั้นเจ้าของบ้านจะต้องสมทบเงินเป็นค่าก่อสร้างและแรงงานอีกประมาณ 35,530 - 151,340 บาทต่อหลังตามแบบบ้านและวัสดุที่ใช้ในแต่ละบ้าน
ร้อยตำรวจโทประจักษ์  ศรีวรรธนะ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  การท่าเรือแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ บ้านที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง 15 หลัง ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ‘สหกรณ์เคหสถานสร้างสรรค์พัฒนา เพื่อทำเรื่องขอเช่าที่ดินในนามสหกรณ์ฯ เพื่อปลูกสร้างบ้านกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ถูกต้อง อัตราค่าเช่าราคาตารางวาละ 5 บาทต่อปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยสมาชิกสหกรณ์ฯ จะต้องสะสมเงินเข้ากลุ่มครัวเรือนละ 100 บาทต่อเดือน เพื่อใช้เป็นกองทุนในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนร่วมกัน

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องบ้านเป็นปัจจัยที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่ง พอช.ได้ดำเนินการเรื่องบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2546 และตามแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย 20 ปี ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่ง พอช. รับผิดชอบประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ทั้งในเมืองและชนบทนั้น พอช.จะเน้นให้ประชาชนผู้ที่เดือดร้อนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง โดย พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับการสร้างบ้านมั่นคงของชาวชุมชนริมคลองวัดสะพานในวันนี้ ซึ่งนอกจากจะมีการสร้างบ้านแล้วก็จะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย เช่น เรื่องอาชีพ การสร้างรายได้ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และยาเสพติด
พื้นที่บางส่วนของการท่าเรือฯ ที่คลองเตย
ร.ต.ท.ประจักษ์ ศรีวรรธนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยนำพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนกว่า 2,000 ไร่ นำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ กทท.อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนงานเพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และนำเข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับแผนงานในเบื้องต้นนั้น กทท. จะนำที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งขององค์การฟอกหนัง ซึ่งกรมพลาธิการทหารบก ขอใช้เนื้อที่ประมาณ 58 ไร่ มาทำเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งจะมีครบทั้งด้านที่อยู่อาศัยในแนวสูง สนามกีฬา สนามเด็กเล่น การส่งเสริมด้านอาชีพ ฯลฯ นอกจากนี้ กทท.ยังมีพื้นที่รองรับประชาชนที่หนองจอกประมาณ 200 แปลงๆ ละ 19 ตารางวา

“ตอนนี้เรากำลังแบ่งพื้นที่ในเขตท่าเรือออกเป็นโซนๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแผนงานว่าพื้นที่ตรงไหนเราจะทำอะไร ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่เดิมเราแทบจะไม่ได้แตะเลย แต่ถ้าหากจะมีการใช้ประโยชน์ เราก็จะมีทางเลือกให้ประชาชน เช่น โครงการสมาร์ซิตี้ และที่ดินที่หนองจอก แต่แผนงานต่างๆ เหล่านี้จะต้องนำเสนอเพื่อให้บอร์ด กทท.อนุมัติก่อน ซึ่งตอนนี้บอร์ดชุดเก่าหมดวาระไปแล้ว จะต้องรอให้บอร์ดชุดใหม่เข้ามาพิจารณาต่อไป” ร.ต.ท.ประจักษ์ กล่าว
สภาพชุมชนคลองเตย
นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ชาวบ้านในคลองเตยตอนนี้มี 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จะขึ้นแฟลต แต่ก็ต้องเป็นแฟลตที่ไม่ใช่แฟลตรูหนู ต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 35 ตารางเมตร และมีค่าส่วนกลางไม่สูงมากเกินไป กลุ่มที่ 2 เช่นที่ชุมชนพัฒนาใหม่ ก็เตรียมจะไปพื้นที่ที่หนองจอก กลุ่มที่ 3 อยากกลับบ้าน รับเงินแล้วกลับบ้านเดิม และกลุ่มที่ 4 อยากจะให้ใช้ที่ดินเดิมทำขึ้นมาเป็นอาคารทรงสูง

“เรื่องของการพัฒนาในยุคนี้มันจะต้องมีผลกระทบต่อคนในระดับล่างและคนในสังคม โดยเฉพาะกับคนยากคนจน เราจะต้องช่วยกันบรรเทาเยียวยาไม่ให้เขาต้องหลุดออกไปจากกระบวนการพัฒนา จะต้องพัฒนาไปคู่กัน เศรษฐกิจ ประเทศชาติก็ต้องพัฒนา ขณะเดียวกัน คนยากจนซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนภาคธุรกิจระดับล่าง เป็นแรงงานเราก็ต้องทำให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อการพัฒนาผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ฉะนั้น จะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยนำเอาพื้นที่บางส่วนมาทำในเชิงธุรกิจของชุมชน เช่นในรูปสหกรณ์ ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ แล้วก็นำผลประโยชน์กับไปสู่ประชาชน” นางประทีป เสนอความเห็น

สำหรับพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือท่าเรือคลองเตยมีทั้งหมดประมาณ 4,000 ไร่เศษ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่มีประชาชนเข้าไปปลูกอาศัยสร้างบ้านเรือนประมาณ 2,000 ไร่ รวม 26 ชุมชน สภาพเป็นชุมชนแออัด ประชากรประมาณ 70,000 คน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ในยุครัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนงานในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ จึงมอบหมายให้การท่าเรือฯ จัดทำแผนงานพัฒนาพื้นที่ขึ้นมา ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคม ก็เตรียมแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของชาวคลองเตยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น