xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาแบบประเมิน “ทีแดส” วินิจฉัย “ออทิสติก” สำหรับเด็กไทยโดยเฉพาะ คาดเริ่มใช้ปี 61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ วิจัยพัฒนาแบบประเมิน “ทีแดส” ใช้วินิจฉัย “ออทิสติก” เด็กไทยเอง แทนเครื่องมือมาตรฐานจากต่างชาติ เหตุมีวัฒนธรรมต่างกัน เร่งศึกษาประสิทธิภาพ - ประสิทธิผลใน รพศ./รพท. ทุกภาค คาดแล้วเสร็จใช้ได้จริงในปี 61 ฟุ้งหลายประเทศอาเซียนสนใจซื้อลิขสิทธิไปแปลใช้วินิจฉัยด้วย

พญ.ดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หากสามารถวินิจฉัยภาวะออทิสติกในเด็กและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้เด็กกลับมามีสติปัญญาสูงขึ้น สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้สูงมากขึ้น ซึ่งสถาบันฯ มีการเปิดให้บริการคลินิกพิเศษเพื่อวินิจฉัยภาวะออทิสติกด้วยเครื่องมือเอดอส (Autism Diagnostic Observation Schedule :ADOS) ซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานในการวินิจฉัยเด็กที่สงสัยภาวะออทิสติก ซึ่งจะแบ่งเป็นชุดสัมภาษณ์ผู้ปกครอง และชุดการประเมินโดยให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมของเด็กในด้านการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเล่น จินตนาการ และพฤติกรรมซ้ำๆ ซึ่งผู้ปกครองจะอยู่อีกห้องหนึ่งในการร่วมสังเกตพฤติกรรมของลูก โดยใช้เวลาประมาณ 30 - 45 นาที ทุกรายจะได้รับการบันทึกวีดีโอ หลังจากการประเมินแล้วจะมีการให้คะแนน แปลผล แล้วจึงแจ้งแก่ผู้ปกครอง ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือเอดอสในการวินิจฉัยภาวะออทิสติกมากกว่า 10 ปี มีจำนวนเด็กทั้งสิ้น 721 ราย โดยรายที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถให้การวินิจฉัยได้ คือ 13 เดือน ส่งผลให้เด็กได้รับการรักษาแบบเข้มข้นตั้งแต่อายุยังน้อย

พญ.ดวงกมล กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสติกที่เป็นของประเทศไทยเอง คือ เครื่องมือทีแดส (Thai Diagnostic Autism Scale : TDAS) ซึ่งจะเป็นแบบประเมินชุดเดียวทั้งการสังเกตพฤติกรรมเด็กและสัมภาษณ์ผู้ปกครอง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยขณะนี้ได้พัฒนาเครื่องมือแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยนำไปให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ในแต่ละภาคของประเทศไทยทดลองใช้ประเมินภาวะออทิสติกในเด็กว่า เป็นอย่างไร เข้าใจหรือไม่ อยากให้ปรับปรุงในส่วนใด ซึ่งขณะนี้ รพศ./รพท. ในส่วนของ 8 จังหวัดภาคเหนือได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สะท้อนกลับมาว่ามีความเข้าใจและประสิทธิภาพดีมาก โดยยังต้องรอผลการดำเนินการในภาคอื่นก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะสามารถระบุประสิทธิผลของเครื่องมือตัวใหม่สำหรับประเทศไทยได้

“เรื่องของประสิทธิผลจะใช้นักสถิติในการเก็บข้อมูลและเทียบเคียงผลกับเครื่องมือมาตรฐานว่าใช้ได้ตรงกันหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้ได้มาตรฐานการวินิจฉัยของคนไทยเอง ทั้งเรื่องของภาษา การสื่อสาร และสังคม เนื่องจากประเทศไทยมีบริบท วัฒนธรรม การสอนเด็ก และวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเมืองนอก จึงต้องมีการปรับเครื่องมือประเมินวินิจฉัยที่เป็นบริบทของประเทศไทยเอง ซึ่งจากการที่เคยไปสอนประเทศข้างเคียงในแถบอาเซียน หลายประเทศก็มีความสนใจที่อยากจะขอลิขสิทธิเครื่องมือทีแดสของไทยไปแปลใช้ประเมินออทิสติกในประเทศตัวเอง เพราะมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน คาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จและเริ่มใช้เครื่องมือทีแดสทั่วประเทศไทยได้ในปี 2561” พญ.ดวงกมล กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น