xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงาน เร่งออก “อาชีพสงวน” ใหม่ ยัน “ต่างด้าว” ทำงานก่อสร้างได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน ทำความเข้าใจ “นายจ้าง” มาตรการดึง “ต่างด้าวเถื่อน” ขึ้นมาอยู่บนดิน ชี้ โอกาสสุดท้ายทำงานอย่างถูกกฎหมาย เร่งออกอนุบัญญัติปรับปรุง “อาชีพสงวน” ใหม่ ให้ตีความชัดเจนขึ้น ยันงานกรรมกรก่อสร้างปลดล็อก “ต่างด้าว” ทำได้ทั้งแบกหาม ยันก่ออิฐฉาบปูน

วันนี้ (12 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการและสมาคมต่างๆ เช่น คณะกรรมการร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมภัตตาคารไทย นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายกสมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย เป็นต้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจถึงมาตรการดำเนินการภายหลังมีคำสั่งมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยผ่อนคลายบทลงโทษตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ออกไปเป็นเวลา 180 วัน

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า การหารือวันนี้ก็ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับทางผู้ประกอบการ สมาคมต่างๆ ถึงแนวปฏิบัติในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หลังจากมีประกาศกระทรวงแรงงานที่ออกมารองรับมาตรา 44 ซึ่งหากพูดให้เข้าใจง่าย คือ จะแบ่งต่างด้าวออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผิดนายจ้าง สามารถมาแจ้งปรับเปลี่ยนนายจ้างได้เลยที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ที่ทำงาน 2. กลุ่มมีพาสปอร์ต มีวีซ่า แต่ยังไม่ขอใบอนุญาตการทำงานภายใน 15 วัน ก็สามารถขอใบอนุญาตทำงานได้เลย 3. กลุ่มนายจ้างขอโควตาเพื่อนำเข้าตาม MOU ก็ดำเนินการตามปกติได้ และ 4. กลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารอะไรเลย หรือมีบางส่วนแต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีมากที่สุดและเป็นกลุ่มใหญ่ จะให้มายื่นเอกสารที่ศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานต่างด้าว ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. - 7 ส.ค. เพื่อมาพิสูจน์ความเป็นนายจ้างลูกจ้าง และออกเอกสารรับรองให้ไปทำเอกสารรับรองบุคคล (ซีไอ) และเข้าสู่ระบบการขออนุญาตทำงานตามปกติ คือขอวีซ่า การตรวจสุขภาพ และใบอนุญาตทำงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานและค่าใช้จ่ายไม่มาก ก็เข้าสู่ระบบได้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้มาก

“นายจ้างที่รับฟังหรือลูกจ้างที่ยังผิดกฎหมายอยู่ อยากให้รีบเข้าสู่ระบบ เพราะถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่ทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้ ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก ส่วนการตั้งศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว จะเร่งประกาศในเร็วๆ นี้ ว่า ใช้สถานที่ใด แต่เบื้องต้นการขอเอกสารต่างๆ จากทางกระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีการหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการจัดทำศูนย์วันสตอปเซอร์วิส ทั้งเรื่องการขอรับซีไอ ขอวีซ่าทำงาน การตรวจโรค และขอใบอนุญาตทำงานในพื้นที่เดียว ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียด” ปลัดแรงงาน กล่าว

เมื่อถามถึงข้อกังวลของนายจ้าง ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า นายจ้างก็มีข้อกังวลบ้าง ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องที่หาทางออกได้ เช่น ข้อกังวลเรื่องพื้นที่รับอนุญาตทำงาน ซึ่งพื้นที่อนุญาตอยู่จังหวัดหนึ่ง แต่มีการทำงานที่อีกจังหวัดหนึ่งด้วย ตรงนี้กฎหมายก็เปิดช่องไว้อยู่แล้วว่าสามารถทำได้ ส่วนเรื่องข้อกังวลอาชีพสงวนที่ห้ามต่างด้าวทำ ซึ่งเดิมมี 39 อาชีพ ตามกฎหมายนี้ก็กำหนดให้มีการปรับปรุงอาชีพสงวนโดยการออกเป็นกฎหมายลูกด้วย ซึ่งสมาคมต่างๆ ก็ขอเข้ามารับฟังว่า อาชีพอะไรควรยกเลิกการสงวน หรืออาชีพใดที่ควรสงวนเอาไว้ ซึ่งอาชีพที่กังวล เช่น งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย ก็มีการตีความรวมไปถึงธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป (การ์เมนต์) ซึ่งอาจจะต้องมีการมาทำให้คำต่างๆ นั้นชัดเจนขึ้น โดยอาจห้ามเฉพาะเรื่องของประดิษฐ์เสื้อผ้าชุดไทยในเชิงอนุรักษ์หรือไม่

“ส่วนกรณีอาชีพกรรมกรที่ ก.แรงงาน ปลดล็อกอนุญาตให้ต่างด้าวสามารถทำได้ ก็มีการตีความว่าต้องเป็นเรื่องแบกหามอย่างเดียว ห้ามแตะงานฝีมือเช่น ช่างอิฐ ฉาบ เชื่อม เป็นต้น จริงๆ การเปิดช่องก็เขียนอธิบายไว้แล้วว่า งานกรรมกรในงานก่อสร้าง ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็ดูครอบคลุมสามารถทำได้ โดยจะให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้ง ส่วนระหว่างที่ยังไม่ประกาศอนุบัญญัติเรื่องอาชีพสงวนใหม่นั้นก็ไม่ต้องกังวล ยืนยันว่าต่างด้าวสามารถทำงานด้านก่อสร้างได้ ซึ่งอนุบัญญัติทั้งหมด 39 ฉบับ รวมเรื่องอาชีพสงวนด้วยนั้น จะต้องออกภายใน 120 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ” ปลัดแรงงาน กล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องการรีดไถแรงงานต่างด้าว ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า กรณีข่าวต่างด้าวสัญชาติลาวที่ร้องเรียนต้องมีการตรวจสอบแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้เสียหายให้เบาะแสเพื่อให้เกิดการดำเนินการตรวจสอบได้ แต่เท่าที่มีการแจ้งเบาะแสมา เช่น กรณีสัปดาห์ก่อนมีเคสต่างด้าวประมาณ 200 คน ที่ระนองถูกกักตัวและเรียกเงินก็ตรวจสอบทันที โดยพบว่าจริงๆ แล้วเรือรับกลับประเทศสามารถบรรทุกคนได้ 150 คน ทำให้เหลืออีก 50 คนที่ต้องพักในฝั่งไทยก่อน จากการตรวจสอบก็พบว่า เจ้าหน้าที่มีการอำนวยความสะดวกในการจัดหาที่พัก และไปปรากฏเรื่องการกักตัวและเรียกเงิน ทั้งนี้ หากมีการรีดไถจริงให้แจ้งเข้ามาได้เลย เพราะนายกฯ ก็กำชับอยู่แล้ว ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยไหนที่ทำเช่นนั้น จะมีโทษทั้งทางอาญา วินัย และทางแพ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น