xs
xsm
sm
md
lg

“เล่านิทาน อ่านชีวิต” 12 ปีของหนูน้อยนักเล่านิทาน /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้ชีพจรลงเท้าต้องเดินทางไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานอย่างเป็นธรรมชาติ ในโครงการ “ลับสมองประลองปัญญาสรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน” ที่เดินทางมาอย่างยาวนาน ปีนี้ถือว่าครบ 1 รอบ เพราะเป็นครั้งที่ 12 แล้ว

โครงการที่ยืนระยะมา 12 ปีนี้ เป็นการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ต้น คือ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค), มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนิตยสาร Mother&Care ที่มีความเห็นตรงกันในการดำเนินโครงการสำหรับเด็กที่มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมให้เด็กไทยรักการอ่าน โดยในภายหลังมีภาคีเครือข่ายร่วมเพิ่มเติม คือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

โครงการมีการเติบโตในเชิงคุณภาพเป็นลำดับ ในแต่ละปีจะมีการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยมุ่งเน้นทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเล่า ฟัง อ่านนิทานร่วมกันในครอบครัว

ย้ำว่าเป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริมให้พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง

โดยแนวคิดในปีนี้มีคอนเซ็ปต์ว่า “เล่านิทาน อ่านชีวิต”

ความหมายของ “เล่านิทาน” แน่นอนเด็กที่มาร่วมโครงการนี้ต้องมาเล่านิทาน แล้วการที่เด็กจะลุกขึ้นมาเล่านิทาน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการฟังนิทานจากพ่อแม่ ผู้ปกครองมาก่อน จนวันหนึ่งเมื่อเขาพร้อมและได้รับการส่งเสริมให้เขาเล่านิทานให้ผู้ใหญ่ฟังบ้าง

ส่วน “อ่านชีวิต” มันมีมิติหลายด้านกับคำว่าอ่านชีวิต เด็กที่ลุกขึ้นมาเป็นหนูน้อยนักเล่านิทาน เหมือนกับว่าเราสามารถจะอ่านชีวิตของหนูน้อยคนนี้ได้ว่าเขามีพื้นฐานมาอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมให้เขารัก การอ่าน เล่านิทานให้เขาฟังจนวันหนึ่งเขาสามารถลุกขึ้นมาเล่าเองได้ เราจะเห็นทักษะชีวิตของเขาด้วย ทั้งการกล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตัวเอง มีท่าทาง มีความเป็นธรรมชาติ นั่นคือ ทักษะที่ส่งเสริมเขา

และหลังจากที่เขาได้เป็นหนูน้อยนักเล่านิทานแล้ว เขาก็สามารถที่จะไปเล่าชีวิตของเขาส่งต่อให้กับกลุ่มคนรุ่นต่อๆ ไปได้ด้วย

ประโยชน์ของการอ่านและเล่านิทานมากกว่าที่คุณคิด

หนึ่ง - น้ำเสียงที่ได้ยิน ภาพที่ได้เห็น จะช่วยให้ลูกสนใจฟัง ขณะเดียวกันสมองของลูกจะสร้างภาพตามเรื่องที่พ่อแม่เล่า จึงเป็นการส่งเสริมจินตนาการ ส่งผลให้เซลล์สมองของลูก ทำงานสมบูรณ์ขึ้น

สอง - สมองของลูกไม่ได้จดจ่อเฉพาะการฟังและสิ่งที่เห็น แต่มองรูปร่าง ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ความรู้สึกร่วมไปด้วย การอ่านนิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางภาษาที่ดีให้กับลูก

สาม - การฟังนิทานเรื่องใหม่ๆ สมองของลูกจะสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองขึ้นมา และขณะที่ฟังนิทาน เรื่องเดิมบ่อย ๆ จะเป็นการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทให้เพิ่มและทำงานมากขึ้น เมื่อลูกโตขึ้นจะช่วยให้ลูกเข้าใจ คิดสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเข้าใจได้รวดเร็ว

สี่ - ช่วงเวลาที่ลูกจดจ่อ ตั้งใจฟังพ่อแม่อ่าน หรือเล่านิทาน ลูกน้อยจะผ่อนคลายและเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความฉลาดทางปัญญาให้กับลูก

กิจกรรมสำหรับเด็กมีมากมายค่ะ สุดแท้แต่พ่อแม่ผู้ปกครองจะส่งเสริม หรือเปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้เขาได้ลองเปิดจินตนาการของตัวเอง

เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าในอดีต เพราะยุคนี้สื่อครองเมือง และสื่อมีอิทธิพลในการหล่อหลอมเด็กรุ่นใหม่ ว่าเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

ยิ่งถ้าดูทีวีแล้วรู้สึกไหมคะ ว่า เดี๋ยวนี้มีแต่รายการร้องเพลงเกลื่อนจอ แม้แต่รายการสำหรับเด็ก ก็ค่อนไปทางประกวดร้องเพลง หรือแสดงออกประเภทร้อง เต้น เป็นหลัก

บางทีก็นึกสงสัยว่ารายการดีๆ สำหรับเด็กในยุคที่เมื่อครั้งตัวเองอยู่ในวัยเยาว์ ที่ยังพอได้ดูอยู่บ้างหายไปในหมด เช่น ไอคิว 180, ตอบปัญหากับเชลล์, รายการโต้วาที, เจ้าขุนทอง, สโมสรผึ้งน้อย หรือแม้แต่การ์ตูนอิกคิวซัง

แต่ดูเหมือนยุคนี้รูปแบบรายการสำหรับเด็ก จะออกแนวเอนเตอร์เทนสนุกสนานในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการร้องเล่นท่าเต้นสารพัด ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่ปริมาณที่มากและใกล้เคียงกันโดยสารัตถะมันชวนให้ตั้งคำถาม

ไม่ได้คิดไม่ได้ต้องการว่ารายการเล่านิทานจะต้องไปอยู่ในจอทีวีหรอกนะคะ แต่ใจจริงอยากเห็นรายการรูปแบบใดก็ได้สำหรับเด็กที่มีความหลากหลาย มีคุณภาพ เหมาะสำหรับเด็กหลากหลายวัย แต่คงยากยิ่งในยุคที่แม้จะอุตส่าห์มีทีวีช่องสำหรับเด็กแท้ๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นปรากฏเป็นจริงนัก

เท่าที่คาดการณ์อย่างเร็วๆ ในระยะสั้น เราคงได้เห็นเด็กและเยาวชนอยากเป็นนักร้อง นักเต้น นางแบบ นางงาม มากกว่าที่จะเห็นการพัฒนาตัวตนของเด็กที่มีความงดงามและศักยภาพในตัวเองมากมาย ที่ขาดโอกาสในการค้นพบ

ทีวีไทยเป็นอย่างไร สังคมไทยก็จะเป็นอย่างนั้น ท่าจะจริง !
กำลังโหลดความคิดเห็น