กรมสุขภาพจิต เร่งวิจัย “นวดไทย - อโรมา” รักษาโรคซึมเศร้า เผย ก.ย. นี้ รู้ผลชัด ก่อนศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษากับยาและวิธีอื่นๆ ระบุ งานวิจัยต่างประเทศการนวดให่ผลไม่ต่างจากยาต้านเศร้า ส่วนอโรมาช่วยลดความวิตกกังวลได้
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคซึมเศร้า (Depressive disorder) เป็นโรคมีความผิดปกติทางอารมณ์ คาดว่า มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ ปัจจุบันโรงพยาบาลทุกระดับในเขตสุขภาพสามารถให้การรักษาโรคนี้ แต่ปัญหาใหญ่คือ ผู้ป่วยยังเข้ารักษาไม่มากเท่าที่ควร มีเพียงประมาณร้อยละ 53 ของผู้ป่วยที่คาดประมาณทั้งประเทศเท่านั้น สาเหตุหลักส่วนหนึ่งเกิดจากเข้าใจผิดคิดว่า อาการป่วยซึมเศร้าหดหู่ใจ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นแล้วก็หายเอง และยังมีอคติว่าโรคซึมเศร้าเป็นคนบ้า วิกลจริต จึงไม่เข้ารักษา ทำให้อาการลุกลามจนมีอาการหลงผิด หรือ ประสาทหลอน หูแว่วได้ยินเสียงคนมาพูดคุยด้วย มีผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิต สุดท้ายอาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ ได้มอบให้ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็น รพ. ต้นแบบการพัฒนามาตรฐานการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าระดับประเทศ ทำการศึกษาวิจัยนวดไทยมาบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เนื่องจากการนวดจะมีผลกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ร่างกายตื่นตัว เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่จากภูมิปัญญาชาติใกล้ตัว และมีบรรยากาศการดูแลแบบมิตรภาพมีคุณค่าสูงทางจิตใจของผู้ป่วย หากวิจัยสำเร็จจะสามารถบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการผู้ป่วยโรคนี้ในชุมชนได้ ซึ่งขณะนี้สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีบริการการแพทย์แผนไทยครอบคลุมถึง รพ. ส่งเสริมสุขภาพตำบลอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดจะเพิ่มมูลค่าของการนวดไทยในด้านการบำบัดรักษาให้โดดเด่นยิ่งขึ้น สามารถใช้สร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และลดการพึ่งยาในอนาคตได้ด้วย
นพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.พระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า การวิจัยการนวดบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดรักษา โดยทีมวิจัยของ รพ. ได้ร่วมกับคณะอาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทย พัฒนาโปรแกรมนวดชื่อว่าพระศรีนวดแผนไทย (Prasri MassageTherapy : PMT) เป็นการนวดเฉพาะจุดร่วมกับการใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์แบบอโรมา ซึ่งมีผลต่อการปรับความสมดุลของสารเคมีในสมอง การนวดมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน นวดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ได้แก่ ศีรษะ คอ บ่า หลัง แขน มือขา และเท้า โดยศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความรุนแรงระดับเล็กน้อยที่ใช้บริการที่ รพ.พระศรีฯ จำนวน 352 คน ใช้เวลานวด 1 ชั่วโมง ดำเนินการระหว่างตุลาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 จากนั้นจะศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับกลุ่มที่รักษาด้วยยาหรือวิธีอื่นๆตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ มีผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การนวดมีประสิทธิภาพในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงปานกลางได้ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและช่วยกระตุ้นต่อมใต้สมองเพิ่มการหลั่งสารซีโรโทนิน ส่งผลให้ลดอาการซึมเศร้าได้โดยพบว่าได้ผลดีในการบำบัดหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซึมเศร้าที่มีอาการในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางไม่แตกต่างจากการใช้ยาต้านเศร้า ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากพืช พบว่า มีสรรพคุณทางการแพทย์ช่วยลดอาการซึมเศร้า ที่นิยมใช้ทั่วไปคือ ลาเวนเดอร์ซึ่งสกัดมาจากดอกลาเวนเดอร์ หลังจากที่ใช้ร่วมกับการนวดไปแล้ว 19 นาที กลิ่นหอมระเหยของน้ำมันลาเวนเดอร์จะช่วยเพิ่มสารสื่อประสาท คือ สารโดปามีน ส่งผลให้ลดความวิตกกังวล ลดอาการซึมเศร้าได้
“โรคซึมเศร้านี้ คนทุกวัยป่วยได้ แต่รักษาหายได้ เมื่อมีอาการซึมเศร้าก็สามารถคุยพูดกันได้ หากรู้สึกว่าตนเอง หรือคนในครอบครัว หรือคนรู้จัก มีอาการ หรือพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากปกติ คือ หดหู่ เศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือเบื่อ ทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม ขอให้ปรึกษา อสม. หากมีอาการซึมเศร้าร่วมกับความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง หรือบอกว่า ชีวิตนี้ไม่มีค่าที่จะอยู่ต่อไปอีกแล้ว ขอให้รีบไปรับบริการที่ รพ. ใกล้บ้าน ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าใด ก็ยิ่งจะมีโอกาสหายสูง โดยใช้เวลารักษาเพียง 6 - 9 เดือนเท่านั้น หรือหากประชาชนท่านใดมีปัญหาทุกข์ใจ ไม่ทราบจะหาทางออกอย่างไร สามารถโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.ประภาส กล่าว