อภ. วิจัย “ยาขับเหล็ก” สูตรใหม่ กินวันละ 1 ครั้ง จากสูตรเดิมที่ต้องกินวันละ 3 - 4 ครั้ง คาดผลิตได้ในปี 2563 ช่วยราคาถูกลง ลดการนำเข้า ผู้ป่วยธาลัสซีเมียเข้าถึงยามากขึ้น
ภก.พิพัฒน์ นิยมการ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย จะได้รับการถ่ายเลือด ซึ่งทำให้มีธาตุเหล็กเกินจำเป็น จึงต้องได้รับยาขับเหล็ก เพื่อป้องกันภาวะเหล็กเป็นพิษ และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินจะต้องได้รับยาขับเหล็ก ประมาณ 60,000 คน ที่ผ่านมา อภ. ได้พัฒนายาขับเหล็ก “ดีเฟอรีโฟรน” ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่าต่างประเทศ โดยอยู่ที่เม็ดละ 3.50 บาท ในขณะนั้นที่ยาต้นแบบมีราคาเม็ดละ 60 - 70 บาท โดยปัจจุบันยาดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนและจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย พม่า ลาว เวียดนาม บรูไน และ กัมพูชา แล้ว
ภก.พิพัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยาดีเฟอรีโฟรนจำเป็นต้องรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง แต่ปัจจุบันมียาขับเหล็กที่รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาเม็ดละ 500 บาท ค่ายาจะตกเดือนละ 15,000 บาทต่อคน ล่าสุด อภ. จึงวิจัยยาขับเหล็กยาเม็ด Deferasirox ขนาด 250 มิลลิกรัม โดยใช้รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งเช่นกัน คาดว่า จะสามารถผลิตเป็นยาออกมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ประมาณปี 2563 ราคาจะถูกลงกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศแน่นอน
“การผลิตยาดีเฟอรีโฟรนอย่างครบวงจรนี้ เป็นก้าวสำคัญของการพึ่งพาตัวเองด้านยาของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตวัตถุดิบทางยาน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจากต่างประเทศ ขอให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เกิดความมั่นใจในเรื่องของการใช้ยาดังกล่าว ซึ่งองค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพและมีความพร้อมในการผลิต เพียงพอสามารถรองรับผู้ป่วยในประเทศ และขณะนี้พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย” รอง ผอ.อภ. กล่าว