สมเด็จพระสังฆราช ทรงแนะวิธีดูแลสุขภาพพระสงฆ์ เน้นอาหารลดหวานมันเค็ม รสชาติกลมกล่อม สธ. ชวนคนไทยห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ ใส่ใจอาหารตักบาตร ลดความเสี่ยงอาพาธได้
วันนี้ (6 ก.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “สธ.ชวนคนไทย ห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์” ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. - 5 ต.ค. 2560 ว่า ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2560 พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญในการทำบุญ รักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ส่วนใหญ่จะเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา และถวายปัจจัยสำหรับพระสงฆ์ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยจะเลือกอาหารที่คิดว่าดีที่สุด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด มีไขมันสูง และขนมหวาน ทำให้พระสงฆ์มีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลกรมการแพทย์ ปีงบประมาณ 2559 มีพระสงฆ์ - สามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง 9,609 ราย โรคความดันโลหิตสูง 8,520 ราย โรคเบาหวาน 6,320 ราย โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 ราย และโรคข้อเข่าเสื่อม 2,600 ราย จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ให้ความสำคัญกับการอาหารที่จะถวายพระสงฆ์ให้มากขึ้น
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางทีมสาธารณสุขได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และได้กราบทูลถามถึงวิธีการดูแลพระพลานามัยของพระองค์ ว่าทรงดูแลอย่างไร พระองค์รับสั่งว่า เน้นเรื่องลดหวาน มันเค็ม ไม่เติมเครื่องปรุง รสชาติกลมกล่อม ไม่ต้องรสจัด ทุกอย่างต้องพอดี จะช่วยเรื่องสุขภาพได้ ส่วนเรื่องการปฏิบัติพระองค์ยังรับสั่งว่า ความพร้อมเพรียงแห่งชน ผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ คำนี้ใช้ได้เสมอ
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า ขอแนะนำประชาชนให้เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อย่างน้อย 4 หมู่ ได้แก่ 1. ข้าวกล้อง 2. เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เพื่อลดพลังงานส่วนเกินไปสะสมในร่างกาย 3. ผักต่างๆ ที่มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย 4. ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน อาทิ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิล และมะละกอ ในการประกอบอาหารควรใช้วิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือน้ำพริก หากจำเป็นต้องผัดหรือใช้กะทิควรใช้ในปริมาณน้อย รสชาติอาหารต้องไม่หวานจัด มันจัดและเค็มจัด ลดขนมหวาน เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง และควรเลือกนมจืด นมพร่องมันเนย น้ำสมุนไพรสูตรหวานน้อย หรือน้ำเปล่า
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์-สามเณรทั่วประเทศจำนวน 122,680 ราย พบการป่วยมากที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และข้อมูลการตรวจคัดกรองในเขต กทม. - สามเณร จำนวน 6,375 ราย ของโรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2549 พบว่า พระสงฆ์ - สามเณร มีสุขภาพดีลดลงจากร้อยละ 60.3 เป็นร้อยละ 52.3 และมีภาวะความเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 28.5 พบพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพได้แก่ สูบบุหรี่ เป็นโรคอ้วน และป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง