สูติ-นรีแพทย์ แจงเจอเลือดปนไขมันขณะปั๊มนม อาจเกิดจากต่อมไขมันอักเสบ ยันไม่อันตราย ไม่ต้องกังวลลูกดูดนมแล้วได้รับก้อนเลือด เหตุไม่มีต่อมไขมันบริเวณหัวนมและลานนม พร้อมแนะวิธีลดเต้านมคัดแม่มือใหม่
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.พิจิตร และโฆษกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียแชร์ภาพพบก้อนไขมันปนเลือดออกมาขณะปั๊มนมให้บุตร จนแม่ที่ต้องให้นมบุตรกังวลเรื่องอันตราย ว่า บริเวณเต้านมจะมีต่อมไขมันที่มีคุณสมบัติช่วยหล่อลื่นเวลาลูกดูดนม แต่ไม่มีตรงลานนมและหัวนม ซึ่งการพบเลือดปนไขมันออกมาขณะปั๊มนมนั้น อาจเกิดขึ้นจากการต่อมไขมันอักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ลูกดูดนมแรงเกินไป แต่ไม่ต้องกังวลว่าขณะลูกดูดนมจะได้รับก้อนเลือด เพราะเวลาลูกดูดนมจะดูดแค่บริเวณลานนมหรือหัวนม ไม่ครอบคลุมไปถึงต่อมไขมันบริเวณผิวหนังเต้านม อย่างไรก็ตาม การปั๊มนมแล้วพบก้อนเลือดปนไขมันออกมาไม่ได้อันตราย เพียงแต่ไม่ควรนำมาให้ลูกรับประทานต่อ เพราะอาจเป็นเลือดที่เกิดจากการอักเสบของแม่
พญ.ชัญวลี กล่าวว่า ส่วนผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกและไม่อยากให้เกิดภาวะเต้านมคัด สิ่งที่คนเป็นแม่ต้องปฏิบัติ คือ ให้ลูกดูดนมหลังคลอดประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ภาวะเต้านมคัดถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องหมั่นสังเกตว่าเป็นเต้านมคัดหรือการอักเสบของเต้านม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากน้ำนมคั่ง หรือจากเชื้อโรคในปากของลูก โดยวิธีสังเกตแยกอาการเต้านมคัดหรือเต้านมอักเสบ คือ เต้านมคัดจะมีอาการตึงที่เต้านม แต่หากอักเสบจะมีอาการเจ็บปวดและอาจมีภาวะไข้ร่วมด้วย เป็นต้น
“การดูแลเต้านมคัดให้ใช้วิธีการประคบร้อนร่วมกับการให้ลูกดูดนมให้ถูกวิธีตามธรรมชาติ โดยยึดหลัก 3 ด ได้แก่ ดูดเร็ว คือ ดูดทันทีหลังคลอดภายใน 3 ชั่วโมง ดูดบ่อย คือ ให้ลูกได้ดูดนมแม่ทุก 2 ชั่วโมง และดูดถูกวิธี คือ การอุ้มลูกให้ถูกวิธีโดยการนำลูกมาแนบท้องแม่ และให้อมถึงลานนม โดยหากเลี้ยงลูกได้ถูกวิธีก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีในการลดปัญหาไม่พึงประสงค์ แต่สิ่งจำเป็นคือต้องคำนึงถึงความสะอาด และแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียม ร่วมกับการดื่มน้ำให้เพียงพอ” พญ.ชัญวลี กล่าว