วธ. ชู ศพอ. ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมทั่วประเทศ ขณะที่ พระพรหมดิลก แนะสอนพุทธศาสนา ภาษา คณิต จูงใจให้เด็กเข้าเรียน ศพอ. เพิ่มขึ้น พร้อมอบรมทักษะอาชีพให้ผู้ปกครอง
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่วัดสามพระยา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จัด “โครงการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมโดยพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ประจำปี 2560” ภายใต้กองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดย พระพรหมดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีผู้บริหารกรมการศาสนา ผู้บริหาร ศพอ.สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เข้าร่วมจำนวนมาก
พระพรหมดิลก กล่าวตอนหนึ่งว่า อยากให้มีการกระจายโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น และให้ผู้สอน หาเทคนิคการสอนกระตุ้นให้เด็กเข้าถึงหลักธรรม เป็นคนดีมีคุณธรรมของสังคม รวมทั้งสอนภาษา คณิตศาสตร์ จูงใจให้เด็กเข้าเรียน ศพอ. มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองรอลูกเรียนนั้น พบว่า มี ศพอ. หลายแห่งได้เปิดคอร์สฝึกอาชีพให้ผู้ปกครอง บางแห่งสอนทำขนม ทำน้ำยาล้างจาน สานกระเป๋า และอื่นๆ ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังนำความรู้ไปต่อยอดสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวด้วย
นายกฤษศญพงษ์ กล่าวว่า วธ. ได้มอบหมายภารกิจให้ ศน. ดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) สู่สังคมคุณธรรมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ผ่านโครงการ ศพอ. ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่สร้างเสริมให้เกิดชุมชนคุณธรรม สังคมคุณธรรม จากพลังบวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน พัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนดีมีคุณธรรม ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2560 ทาง ศน. จึงได้จัดโครงการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหาร ศพอ. ขึ้นใน 4 ภาค 6 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2560 โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นวันที่ 20 - 21 มิถุนายน 2560 ณ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการพัฒนางาน ร่วมหาแนวทางขับเคลื่อน ศพอ. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการในการสร้างชุมชนคุณธรรมทั่วประเทศ
ปลัด วธ. กล่าวว่า ทาง วธ. ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือขับเคลื่อนงาน ศพอ. ทั้งผู้บริหาร และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และ สมุทรสาคร ที่มาร่วมประชุมและร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอข้อเสนอแนะในเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาและการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมของ ศพอ. เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของชาติ” เพื่อนำไปบริหารจัดการพัฒนาศูนย์ฯให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถสนองความต้องการของชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ ศพอ. จัดตั้งขึ้นภายใต้รูปแบบประชารัฐ โดยการสนับสนุนของ ศน. ร่วมกับภาคคณะสงฆ์ภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ มีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ มีคณะสงฆ์เป็นกำลังสำคัญในการบ่มเพาะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็ก เยาวชน และ ประชาชน เน้นปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา เป็นแหล่งเรียนรู้ศีลธรรมตามหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอก ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ศูนย์พิพิธภัณฑ์ของชุมชน และศูนย์ฝึกวิชาชีพในวัด ปัจจุบันมี ศพอ. จำนวนกว่า 4,000 ศูนย์ฯ กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ด้าน นางละออ นันทกิจวัฒนโชติ ในฐานะจิตอาสาสอนทำของจิ๋ว กล่าวว่า ตนสอนทำของจิ๋วให้ผู้ปกครองเด็กที่มาเรียน ศพอ.มากว่า 5 ปี ซึ่งการทำของจิ๋วนั้นช่วยให้มีสมาธิ รู้จักคิด ประดิษฐ์สิ่งใหม่ ขณะเดียวกันยังป้องกันสมองเสื่อมด้วย นอกจากนี้ มีบางคนนำผลงานของตัวเองไปตั้งโชว์ที่บ้าน บางรายนำไปจำหน่ายเป็นการหารายได้เสริม ตนรู้สึกภูมิใจที่ส่วนหนึ่งทำประโยชน์ให้แก่สังคม