xs
xsm
sm
md
lg

“บุหรี่ไฟฟ้า” ทำเด็กหนีเรียนมากกว่า “บุหรี่ธรรมดา” พบสูบควบคู่ ไม่ช่วยเลิกบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการสำรวจพบวัยรุ่นสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” มีพฤติกรรมหนีเรียนสูงกว่ากลุ่ม “บุหรี่ธรรมดา” ชี้ เริ่มสูบเพราะอยากลอง - เพื่อนชวน เหตุคิดว่าเท่เป็นของนอก ไม่เหม็นเหมือนบุหรี่ ไม่แน่ใจช่วยเลิกบุหรี่ได้ เพราะสูบควบคู่กัน แถมใส่ปริมาณนิโคตินสูง สธ. จ่อคุมกลางปีนี้

ผศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้บุหรี่และบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (บุหรี่ไฟฟ้า) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2559 สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งหมด 214 ราย แบ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่น 12 - 24 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ 25 - 65 ปี แบ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูบบุหรี่จำนวน 106 ราย และผู้มีประสบการณ์สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 108 ราย ผลการศึกษาพบว่า อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ และ เริ่มสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มวัยรุ่น เท่ากันคือ อายุ 16 ปี สาเหตุที่เหมือนกันอันดับแรกคืออยากลอง อันดับต่อมา สูบเพราะเพื่อนชวน

ผศ.ดร.จิตรลดา กล่าวว่า ส่วนสาเหตุการใช้ที่แตกต่างของการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์กับบุหรี่ธรรมดา โดยคิดว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นของต่างประเทศ สูบแล้วเท่ดี ขณะที่มีบางคนสูบเพราะอยากเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนบุหรี่ แต่เมื่อสอบถามเรื่องความเชื่อที่ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์สามารถทำให้อดบุหรี่ธรรมดาได้นั้น มีหลายคนให้ความเห็นว่าไม่แน่ใจ เพราะตนเองหันไปสูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กันไป แล้วแต่เวลาและโอกาส บางคนก็กลับมาสูบบุหรี่ธรรมดาเหมือนเดิม

“นอกจากนี้ พบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เกือบครึ่งหนึ่งสูบเป็นครั้งคราว ประมาณ 1 ใน 4 สูบประจำทุกวัน และร้อยละ 90 สูบในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบางคนต้องสูบภายใน 5 นาที หลังตื่นนอน ซึ่งกลุ่มที่สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีพฤติกรรมการเรียน อาทิ การหนีเรียนบ่อยๆ การถูกครูลงโทษร้ายแรงสูงกว่ากลุ่มผู้สูบบุหรี่ เมื่อเทียบกับกลุ่มช่วงอายุเดียวกัน โดยผู้ที่ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ใส่ปริมาณน้ำยาในบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 3 มิลลิกรัมต่อครั้ง และมีผู้ใช้สูงสุดมากกว่า 7 มิลลิกรัมต่อครั้ง ซึ่งในน้ำยาบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณนิโคตินที่แตกต่างกัน” ผศ.ดร.จิตรลดา กล่าว

ผศ.ดร.จิตรลดา กล่าวว่า นิโคตินเป็นสารเสพติดที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังขาดการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติเกี่ยวกับปริมาณนิโคตินที่อยู่ในน้ำยาแต่ละชนิด ขณะนี้ทีมของศูนย์วิจัยกำลังศึกษาต่อยอดทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งผลที่ได้จะสะท้อนปริมาณนิโคตินในน้ำยาบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ในการวางนโยบายต่อไป

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศจย. กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผลของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในการช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร แต่มีการลักลอบนำเข้าและขายอย่างผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่มีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย เป็นการกระตุ้นให้มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วยการออกผลิตภัณฑ์ปลดปล่อยนิโคตินรูปแบบใหม่ๆ มากระตุ้นให้อยากลอง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเร่งบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ใหม่กลางปีนี้ เพื่อควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
กำลังโหลดความคิดเห็น