xs
xsm
sm
md
lg

7 วิธีขับรถปลอดภัยเมื่อผจญ “ฝนตก-น้ำท่วม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค แนะ 7 วิธีขับรถปลอดภัย เมื่อเจอกับฝนตก - น้ำท่วม ย้ำ เปิดไฟหน้ารถเสมอ เปิดใบปัดน้ำฝน ลดความเร็ว ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า

วันนี้ (31 พ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝน หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ โดยเฉพาะการการขับขี่ยานพาหนะของประชาชน เนื่องจากฝนที่ตกลงมาจะทำให้ถนนเปียกลื่น และทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี และถนนบางจุดอาจมีน้ำท่วมขัง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้มากกว่าปกติ ดังนั้น การขับขี่ยานพาหนะในสภาวะที่ฝนตกและถนนมีน้ำท่วมขังเป็นระยะต้องมีการเตรียมพร้อมและระมัดระวังเป็นพิเศษ จึงขอแนะนำผู้ขับขี่ควรปฏิบัติ 7 วิธี ดังนี้

1. เปิดไฟหน้ารถเสมอ โดยเปิดไฟต่ำ เพื่อช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นรถได้จากระยะไกล

2. เปิดใบปัดน้ำฝน โดยปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงและปริมาณฝนตก

3. ลดความเร็ว เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ

4. ให้ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น

5. หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ ระยะทางข้างหน้า ความเร็วและระยะห่างของรถที่กำลังวิ่งตามกันในช่องจราจรซ้ายขวา

6. รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ห้ามเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนในทันที เพราะอาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ให้แก้ไขโดยลดความเร็ว ใช้เกียร์ต่ำ จนกว่ารถจะทรงตัวได้ แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ

7. เมื่อต้องขับรถผ่านน้ำท่วมขัง ให้หยุดประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำลึกสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ทั้งนี้การเดินทางช่วงที่มีฝนตกมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้สูง และมีโอกาสที่จะเป็นอุบัติเหตุใหญ่ที่มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก หากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขอให้โทร.แจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น

“พื้นที่ที่น้ำท่วมขัง ประชาชนที่เดินลุยน้ำอาจเกิดอุบัติเหตุจากการเดินไปชน หรือเหยียบของมีคมต่างๆ ทำให้เกิดบาดแผลและเกิดโรคตามมา เช่น แผลติดเชื้อ น้ำกัดเท้า เป็นต้น ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วม แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรใส่รองเท้าบูตกันน้ำ แต่ไม่ควรใส่รองเท้าที่อบทั้งวัน และไม่ใส่รองเท้าที่เปียกชื้น ซึ่งหลังการเดินย่ำน้ำทุกครั้ง ต้องล้างเท้าให้สะอาด ฟอกสบู่ให้ทั่ว และใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากมีบาดแผล ให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบาดแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม หากหารองเท้าบูตไม่ได้ ให้ใช้ถุงพลาสติกดำมาประยุกต์ใช้ทำรองเท้ากันน้ำชั่วคราว แล้วสวมรองเท้าปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น