เมืองไทยจะ 4.0 หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็ยังเผชิญปัญหาเดิมๆ
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้คนถ้วนทั่วทุกภูมิภาคต่างก็อ่วมกับสภาพอากาศที่ฝนตกหนักแทบทุกวัน โดยเฉพาะคนเมืองกรุงที่ต้องเผชิญปัญหาร่วมแบบอึดอัด กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และไม่รู้จะทำอย่างไรกับชะตากรรมที่ต้องเผชิญทุกวัน เพราะเมื่อฝนตก สิ่งที่ตามมาแทบทุกครั้ง คือ น้ำท่วม หรือจะเรียกว่าน้ำรอการระบายก็ไม่ต่างอะไรกันนัก ซึ่งต้องคอยลุ้นตลอดเวลาว่าแล้วแถวบ้านจะท่วมไหม ที่ทำงานล่ะ ไปส่งลูกได้ไหม จะท่วมย่านไหน น้ำจะท่วมถึงบ้านเราหรือเปล่า แล้วจะเข้าบ้านไหม ฯลฯ
สารพัดปัญหาที่เครียดรายวันเมื่อเห็นฝนตั้งเค้า
และแน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาแทบจะทันที ก็คือ รถติด ลำพังฝนไม่ตก น้ำไม่ท่วม รถก็ติดอยู่แล้ว เมื่อเจอทั้งฝนตกและน้ำท่วม การจราจรก็กลายเป็นวินาศสันตะโรทันที บางคนหนักหนาถึงขั้นต้องใช้ชีวิตค้างเติ่งอยู่ท่ามกลางสายฝนอยู่หลายชั่วโมง บางคนรถเสีย และบางคนถึงขั้นน้ำท่วมเข้ารถ
และนี่คือ ชะตากรรมร่วมของคนเมืองกรุงยามนี้ ยามที่เมืองไทยกำลังจะไปเป็น 4.0 ตามที่ใครต่อใครพูดกัน
แม้ขณะเขียนต้นฉบับสายฝนก็ยังมิขาดสาย
พลันทำให้นึกถึงคำถามของลูกเมื่อครั้งเป็นเด็กวัยประถมที่มักถามว่า
“ทำไมฝนตกแล้วน้ำถึงท่วมล่ะครับ” แล้วตามมาด้วย...
“ทำไมฝนตกแล้วรถต้องติดด้วยครับ”
ขณะนั้นคนเป็นแม่ก็อธิบายกันสารพัดยกใหญ่ เช่น เพราะถนนลื่นบ้าง โอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ฯลฯ
แต่ไม่วายที่เด็กๆ ต้องตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆ เพราะคำถามของเด็กไม่มีวันหมดค่ะ
ผู้ใหญ่ต้องคอยรับมือกับสารพัดคำถามที่มีมาได้ทุกวัน โดยเฉพาะเด็กวัยอยากรู้อยากเห็นอยากลอง เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในการพยายามตอบคำถามของเด็กให้คลายสงสัยให้ได้มากที่สุด
จากวันนั้นถึงวันนี้ลูกเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว แต่ปัญหาเดิมๆ ก็ยังอยู่ คำถามเดิมๆ ก็ยังอยู่ เพราะฝนตกคราวใด ก็น้ำท่วมทันที และการจราจรก็เป็นอัมพาตทันที
จะมีคำถามที่เติบโตขึ้นก็คือ ทำไมปัญหาซ้ำซากนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังสักที เพราะเราก็เผชิญปัญหาเยี่ยงนี้ทุกปีมิใช่หรือ
ยามหน้าฝน น้ำก็ท่วม
ยามหน้าแล้ง เราก็แสนแล้ง
ยามหน้าหนาว เราก็แจกผ้าห่ม
มันแทบจะเป็นวัฏจักรตั้งแต่รุ่นแม่จนมาถึงรุ่นลูกกันเลยทีเดียว
ถ้าจะมีสิ่งต่างออกไป ก็คือมันเพิ่มขนาดความรุนแรงของปัญหา และเรากำลังส่งต่อปัญหาจากคนรุ่นเราไปสู่คนรุ่นลูกต่อไป
คำถามคือ ฝนตกน้ำท่วม ทำให้เราได้เรียนรู้อะไร? และแม้ถึงเราจะต้องยอมทนรับสภาพ แต่ก็พยายามทำใจถือโอกาสนำมาเป็นเรื่องราวเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวด้วยละกัน
หนึ่ง ปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความชาชินของคนที่ต้องเผชิญ อาจลองตั้งคำถามชวนลูกพูดคุยเรื่องฝนตกแล้วทำไมน้ำจึงท่วม และทำให้เกิดอะไรตามมาบ้าง โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้ลูกคิดตามเพื่อให้ลูกได้เห็นภาพ
สอง ถือโอกาสคุยกับลูกเรื่องข้อมูลข่าวสารในโลกโซเชี่ยลมีเดีย ทั้งจากสำนักข่าว และจากส่วนบุคคล ถึงภาพข่าวความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านสื่อทุกแขนงที่นำเสนอภาพความเสียหายอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้ให้เขารู้จักอารมณ์ของตนเอง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
สาม ชวนพูดคุยถึงรากฐานของปัญหา เช่น สาเหตุของการเกิดน้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก เกิดจากอะไรบ้าง ต้นไม้เกี่ยวข้องไหม การรุกล้ำพื้นที่ป่าเกี่ยวข้องไหม ถ้าในเมืองกรุงมีหน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องบ้าง การวางผังเมืองเป็นอย่างไร การทำงานของภาครัฐ การเห็นแก่ตัวของผู้ที่ทิ้งขยะไม่เลือกที่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไร และอาจลองตั้งคำถามก็ได้ว่า เราจะมีส่วนในการช่วยเหลือได้อย่างไร และควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
สี่ จำลองสถานการณ์ว่าถ้าเขาต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้บ้างจะทำอย่างไร น้ำท่วมที่บ้าน สิ่งของจำเป็นที่เราต้องดูแลรักษาควรต้องเก็บไว้ที่ไหน แล้วทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย เช่น เคลื่อนย้ายสิ่งของที่อยู่ต่ำขึ้นไปไว้ที่สูงหรือชั้นสองของบ้าน และสิ่งของที่อยู่นอกบ้านให้เก็บเข้ามาไว้ในบ้าน หรือผูกมัดไว้ให้ยึดติดแน่นอยู่กับที่
ที่สำคัญต้องถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด อย่าจับเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก หรือแช่เท้าในน้ำเด็ดขาด หรือถ้าต้องเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมนอกบ้าน เช่น อยู่ในรถ อย่าขับรถในพื้นที่น้ำท่วมสูง เพราะจะไม่สามารถควบคุมรถได้ และน้ำอาจเข้ารถ
และถ้าตัวเองไม่ได้ประสบความเดือดร้อนโดยตรง คุณก็สามารถฝึกเรื่องจิตอาสาให้ลูกได้ว่า เราจะช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้บ้างไหม ได้อย่างไร ปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด แสดงความคิดเห็น เป็นการฝึกให้ลูกคิดหาทางช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยพ่อแม่อาจช่วยแนะนำว่าถ้าไม่ได้แบบนี้เป็นอีกแบบได้ไหม
หลังจากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ควรสอนให้ลูกเชื่อมโยงความคิดด้วยว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง ความเดือดร้อนและผลกระทบจากข้าวของเสียหาย ความสูญเสียที่ตามมา รวมไปถึงสภาวะจิตใจของผู้คนจะหนักหนาเพียงใด เพื่อให้เขาได้มองเห็นว่าในปัญหาหนึ่งปัญหา มันส่งผลกระทบไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย เป็นการฝึกให้เด็กมองปัญหาอย่างรอบด้าน
ไหนๆ เราก็ยากที่จะหวังได้ว่าปัญหาเดิม ๆ จะได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะโดยผู้บริหารประเทศและผู้บริหาร กทม. ชุดไหนๆ ก็ตามแล้ว นอกจากจะต้องทำใจ ก็มาทำวิกฤตให้เป็นโอกาสเสียเลยดีกว่า
เปลี่ยนชั่วโมงฝนตกรถติดเป็นชั่วโมงสนทนากับลูกก็ยังดี !