xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” แจง “ไข้เลือดออก” ทำแขนขาอ่อนแรงคล้าย GBS ได้ ไม่เกี่ยวพิษน้ำลายยุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอธีระวัฒน์” ยันไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ตามที่เผยแพร่ทางโซเชียล แจงไวรัสเดงกี และ ซิกา ทำให้เกิดแขนขาอ่อนแรงคล้าย GBS ได้ แต่พบได้น้อย ไม่เกี่ยวพิษน้ำลายยุง

จากกรณีมีการข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียไปทั่ว ว่า น้ำลายยุงมีพิษทำลายกล้ามเนื้อทำให้แขนขาอ่อนแรง โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มียุงนำไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ และเกิดมีคนไข้โรคจีบีเอส (GBS) หรือการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงนั้น

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ตนไม่เคยโพสต์ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ พร้อมกับอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน (GBS) สรุปใจความได้ว่า ยุงลายสามารถนำเชื้อแพร่สู่คนได้หลายชนิด ตั้งแต่ไข้เลือดออกชนิดต่างๆ เช่น เดงกี และ ซิกา ซึ่งซิกาปกติมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย แต่ไปติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ และอาจทำให้ลูกพิการ แต่บางรายของเดงกี และ ซิกา มีอาการทางระบบประสาทเด่น ทั้งสมอง เยื่อหุ้มสมองไขสันหลัง และ เส้นประสาทอักเสบ โดยเส้นประสาทอักเสบจะเหมือนกับกลุ่มอาการ GBS ซึ่งตามปกติจะเกิดจากการที่มีติดเชื้อบางชนิดก่อน เมื่อเชื้อหายไป ร่างกายกลับเข้าใจผิด ผลิตภูมิคุ้มกันไปทำลายระบบประสาทแทน (infection trigger) แต่ในรายของไวรัส หลายชนิดนี้ รวมทั้งไวรัส พิษสุนัขบ้าเชื้อยังอยู่แต่มีภูมิไปทำลายร่างกายแทน

สำหรับโรค GBS (Guillain-Barre Syndrome) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเส้นประสาท โดยมีสาเหตุจากภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน ทำให้แขน ขาอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง และอาจมีอาการชาร่วม รวมทั้งมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า การกลืน การเคลื่อนไหวลูกตา และบางรายปรากฏอาการในสมองด้วย แต่กลุ่มอาการ GBS ดังกล่าวยังมีสาเหตุอื่นๆ ได้ ดังต่อไปนี้ 1) GBS จากภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน โดยเข้าใจผิดว่าเส้นประสาทเป็นเชื้อโรค และเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเบี่ยงเบนทำให้มีการสร้างน้ำเหลือง แอนติบอดี (Antibody) ผิดปกติซึ่งเมื่อร่วมกับตัวขับเคลื่อนการอักเสบ (Complement) ทำให้ปลอกหุ้มประสาทหรือแกนประสาทอักเสบและถูกทำลาย หรือมีเซลล์อักเสบมากัดกินเส้นประสาท ซึ่งจะปรากฏอาการในรูปของอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าโรคเจาะจงที่แกนกลางของเส้นประสาทและมีทั้งอ่อนแรงและชา ถ้าเกิดกับปลอกหุ้มประสาท โดยพบว่า มีการติดเชื้อหลายตัว ที่กระตุ้นให้เกิดมีภูมิคุ้มกันแปรปรวน เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซี และอี เชื้อในตระกูลเฮอร์ปีร์ เช่น ไวรัส CMV EBV แม้กระทั่งเชื้อ Mycoplasma มาลาเรีย ในการนี้เชื้อจะมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับส่วนประกอบของเส้นประสาท แต่ไม่จำเป็นเสมอไปในเชื้อบางตัว ส่วนกรณีของ GBS ที่เกิดตามหลังการฉีดวัคซีน ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ทำจากสมองแกะ หรือสมองหนู โดยผู้ได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 300 ราย จะเกิดสมองและไขสันหลังอักเสบ หรือ เส้นประสาทอักเสบ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

และ 2) กลุ่มอาการคล้าย GBS (GBS mimics) อาทิ จากภาวะขาดวิตามิน B1 จากภาวะการติดเชื้อโดยตรง (infectious GBS) เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ในกลุ่มอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบบอัมพาต ไวรัสกลุ่ม endemic virus ทำให้เกิดอาการคล้าย GBS ได้แก่ ไวรัสเอนเทอโร ทั้ง 68, 70, 71 ไวรัสกลุ่ม Flavivirus ที่มีอาการทางระบบประสาท เช่น ไวรัสเจอี เดงกี เวสต์ไนล์ และซิกา ทั้งนี้ เจอี และเวสต์ไนล์ จะมีอาการเด่นทางระบบประสาทส่วนกลางและปลาย แสดงอาการทางเยื่อหุ้มสมอง สมอง และไขสันหลังอักเสบได้ ส่วนเดงกีจะเป็นในระบบของไข้เลือดออกโดยที่อาการทางระบบประสาทจะพบได้น้อยกว่ามาก ทั้งนี้ อาการทางระบบประสาทอาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆ โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการแสดงของไข้เลือดออก และเกล็ดเลือด จำนวนของเม็ดเลือดขาวและความเข้มข้นของเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และจะเป็นได้ทุกรูปแบบของทางระบบประสาทเช่นเดียวกับเจอี และเวสต์ไนล์ สำหรับซิกาเป็นไปได้ว่า น่าจะมีอาการทางระบบประสาทจำเพาะกลุ่มในทารก ซึ่งอยู่ในครรภ์ โดยทำให้มีสมองลีบ แต่เริ่มมีการพบว่าซิกาก่อให้เกิดอาการคล้าย GBS เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เพิ่งมีการชี้แจงว่า ไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่เช่นกัน โดยมีเพียง 4 สายพันธุ์ตามเดิมที่พบได้บ่อยเท่านั้น ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ

อ่านบทความฉบับเต็ม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ที่

กำลังโหลดความคิดเห็น