จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อย่างเขาใหญ่ วังน้ำเขียว อีกทั้งยังมีแหล่งอาหารเลิศรสมากมาย ย่าโม ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวอีสาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์จูงใจนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลป์ไม่ควรพลาด เพราะนับว่าเป็นแหล่งรวมศิลปินที่มีชื่อเสียง มีสถานศึกษาสอนศิลปะ มีงานศิลปะหลากหลายสไตล์ให้ศึกษาเรียนรู้ เพียงแต่วันนี้งานศิลปะยังกระจัดกระจาย ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ จับมือเอกชน เพื่อหาแนวทางเพื่อผลักดันให้นครราชสีมา เป็นเมืองศิลปะ
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วย น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และบริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมหารือกับเครือข่ายศิลปวัฒนธรรม จ.นครราชสีมา และลงพื้นที่เยี่ยมชมหอศิลป์ศิลปินแห่งชาติ ทวี รัชนีกร หอศิลป์เขาใหญ่อาร์ต มิวเซียม หอศิลป์ 129 อาร์ต และเรือนโคราช เป็นต้น
นายวีระ บอกว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีแนวคิดว่าจะผลักดันในส่วนกลางอย่างเดียวไม่ได้ ควรลงพื้นที่เพื่อให้เห็นกับตา รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นของเหล่าศิลปิน และหน่วยงานต่างๆ ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยทำมาแล้ว คือ จังหวัดเชียงราย ที่นี่มีศักยภาพมาก มีมรดก มีหอศิลป์ของศิลปินต่างๆ และศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย เชียงรายจึงเป็นต้นแบบให้จังหวัดต่างๆ เพราะกำลังประกาศเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม เช่นเดียวกับที่มาจังหวัดนครราชสีมา เพราะมองแล้วว่ามีศักยภาพ มีหอศิลป์เกิดขึ้นที่เขาใหญ่ ในเมืองนครราชสีมาก็มีหอศิลป์ของศิลปินแห่งชาติ ทราบว่า ในจังหวัดก็มีการขับเคลื่อนที่จะผลักดันให้มีหอศิลป์เกิดขึ้น มีโครงการของท้องถิ่นพยายามผลักดันให้เกิดถนนสายศิลปะ ก็จะศึกษาว่า ความเป็นไปได้ที่จะประกาศจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมพร้อมกับเชียงรายได้หรือไม่
“อยากดูจุดเด่นของศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมา เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหมายแค่ระดับประเทศแต่ตั้งเป้าหมายศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้ไกลถึงระดับโลก อีกทั้งยังอยากขอความเห็นจากนครราชสีมาว่าสามารถเป็นเมืองศิลปะได้หรือไม่”
นายสมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือ เปี๊ยก โปสเตอร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง แสดงความคิดเห็นว่า จังหวัดนครราชสีมา สามารถเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรมได้ เนื่องจากมีศิลปวัฒนธรรมหลากหลายและสะสมไว้มากมาย ตอนนี้ก็มีเริ่มกันแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้รวมตัวกัน คือ ต่างคนต่างมีความคิดที่จะทำ มีทุนเท่าไหร่ก็ทำได้เท่านั้น เมื่อแยกกันทำผลงานก็ไม่หลากหลายและมีจำนวนไม่มากนัก หากรวมตัวกันได้ก็จะมีงานที่หลากหลายขึ้นและมีจำนวนมาก ยิ่งมีภาครัฐมาสนับสนุน เชื่อว่า จังหวัดนครราชสีมาจะเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรม ได้อย่างแน่นอน
นายสนิท มณีรัตน์ ครูโรงเรียนปากช่อง กล่าวว่า อำเภอปากช่อง มีหอศิลป์หลายแห่ง มีหอศิลป์โรงเรียนปากช่อง เขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ 129 บ้านศิลปินแห่งชาติ หอศิลป์เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา และพร้อมสนับสนุนในเรื่องศิลปวัฒนธรรมอย่างเต็มที่ ผมเคยมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างหอศิลป์โดยไม่ได้นับจาก 1 แต่นับจากติดลบ จนกระทั่งวันนี้หอศิลป์โรงเรียนปากช่อง ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักมีนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจงานศิลปะเดินมาอย่างต่อเนื่อง อีกอย่างแวดวงศิลปะเขาพูดกันว่า จังหวัดนครราชสีมามีสามเหลี่ยมทองคำ จุดหนึ่งอยู่ที่เสิงสาง จุดที่ 2 ที่โนนสูง จุดที่ 3 ที่ปากช่อง แต่ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นหลายๆ เหลี่ยมเพราะมีโรงเรียนหลายแห่งเริ่มสนใจ ชี้ให้เห็นว่า จังหวัดเราจะมีศิลปินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โคราชจะเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้วยมือศิลปินแห่งชาติที่มารวมตัวกันที่โคราช ทุกคนตอนนี้พร้อมแล้วเหลืออย่างเดียวคือแรงสนับสนุนจากรัฐบาล
ขณะที่ นางกมลวรรณ พิชัย บุตรสาวอาจารย์ทวี กล่าวว่า หอศิลป์ ทวี รัชนีกร จะมีนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจงานศิลป์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ให้แสดงผลงานด้วย เพราะฉะนั้น ใครที่มาเสพงานศิลป์ที่นี่จะเห็นความหลากหลาย ซึ่งในงานศิลปะจะสะท้อนสังคม วิถีชีวิตในปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้ จากการลงพื้นทีเขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม นับเป็นพื้นที่ทางศิลปะให้ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาศึกษาเยี่ยมชม โดยภายในจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทย มีทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบของทิวทัศน์ท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติที่ งดงาม เงียบสงบ และอบอวลด้วยสุนทรียะแห่งการใช้ชีวีตอย่างมีรสนิยม
ขณะที่ หอศิลป์ 129 น่าสนใจเป็นการวบรวมผลงานของศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยและต่างประเทศ กว่า 400 ชิ้น เช่น ถวัลย์ ดัชนี เฟื้อ หริพิทักษ์ นอกจากนี้ ยังมีผลงานของศิลปินแถวหน้าระดับโลก “ปิกัสโซ” เชื่อว่าผลงานหลายชิ้นไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมาก
ส่วนเรือนโคราช ตั้งอยู่เบื้องหน้า ย่าโม เป็นแหล่งเรียนศิลปะเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ การสร้างเรือนใต้ถุนสูง มีการจัดแสดงกี่ทอผ้า ครกตำข้าว เครื่องครัวที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผา โม่หิน และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นศาสตร์การดำรงชีวิตของรุ่นปู่ย่าตายา ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยเห็น
...นี่คือ เพียงตัวอย่างงานศิลป์เมืองย่าโม ที่ภาครัฐ เอกชน และศิลปิน จับมือกันเพื่อผลักดันสร้างเครือข่ายเพื่อชู “โคราชเป็นเมืองศิลปะ” กระตุ้นผู้ชื่นชอบงานศิลป์มาเยือนโคราช ในอนาคตจะเป็นจุดเด่น นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ