สธ. ลงนามร่วม วท.- วช. นำผลงานในบัญชีนวัตกรรมมาใช้ นำร่อง “เครื่องเดนตีสแกน 2.0” ถ่ายภาพโครงหน้าได้ 3 มิติ ลดความผิดพลาดในการรักษาทันตกรรมผู้ป่วย ราคาถูกกว่าต่างชาติ 40% เริ่มใช้แล้วที่สถาบันทันตกรรม ก่อนนำไปใช้ใน รพ. อีก 4 แห่งทุกภูมิภาค “บิ๊กจิน” ย้ำใช้สิ่งประดิษฐ์ไทยลดการนำเข้าได้ 1.5 หมื่น ล.
วันนี้ (29 พ.ค.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินงานส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมไทย สู่การใช้งานในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยไปขับเคลื่อนประเทศ สำหรับการลงนามในครั้งนี้เป็นการเอาผลงานวิจัยสำคัญมาใช้ประโยชน์ โดยเริ่มจากเครื่อง “เดนตีสแกน 2.0” ซึ่งผลิตภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีปริมาณการใช้รังสีที่ต่ำมาก แต่สามารถสแกนโครงหน้าของเราได้แบบ 3 มิติ เพื่อให้ทันตแพทย์และผู้ป่วยเห็นภาพได้อย่างชัดเจนในการรักษาพยาบาล และในอนาคตจะมีการนำผลงานที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยและสิ่งประดิษฐ์ไทยมาใช้ประโยชน์อีก ซึ่งตรงนี้จะช่วยเพิ่มงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ที่มีไม่ถึง 5% ให้เป็น 10% ภายในปี 2560 ทั้งนี้ การใช้นวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์จะช่วยลดการนำเข้าได้ถึง 10 - 30% หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การนำผลงานในบัญชีนวัตกรรมไทยฯ มาใช้ รัฐบาลได้มอบให้ สวทช. และ วช. ร่วมกับสำนักงบประมาณปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการตามรายการบัญชีนวัตกรรมไทย ได้แก่ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ผลิตได้เองในประเทศที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการลงนามเพื่อนำเครื่อง “เดนตีสแกน 2.0” มาใช้นั้น ขณะนี้ได้มีการติดตั้งที่สถาบันทันตกรรมแล้ว และในปี 2560 จะมีการติดตั้งใน รพ. สังกัด สธ. อีก 4 แห่ง คือ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.แพร่ รพ.สกลนคร และ รพ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งทาง สธ. ยินดีเป้นอย่างยิ่งที่จะใช้ของที่คนไทยทำ โดยคนไทยเพื่อคนไทย
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับเครื่องเดนตีสแกน 2.0 ถือว่าเป็นผลผลิตของคนไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ เพราะผ่านมาตรฐานไอเอสโอ ช่วยลดความผิดพลาดในการผ่าตัดในช่องปากของผู้ป่วย เช่น การใส่รากฟันเทียมก็ช่วยให้ทันตแพทย์ เห็นว่า จะโดนเส้นประสาทหรือไม่ หรือจะเข้าไปถูกโพรงจมูกหรือไม่ เป็นต้น ซึ่ง สธ. ในฐานะผู้ใช้ก็มีความมั่นใจ ที่สำคัญ ราคาถูกกว่าต่างประเทศกว่า 40%
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช. กล่าวว่า งานวิจัยต่างๆ เมื่อนำไปทดสอบใช้งานจนแน่ใจว่ามีมาตรฐาน ผู้ใช้งานพอใจ ตรงนี้เรียกว่า ขั้นตอนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์ที่ไทยพัฒนาแล้วอยู่ในระบบประมาณ 330 รายการ โดย วช. ได้รับมอบหมายให้ดูแลบัญชีสิ่งประดิษฐ์ในการให้ทุนต่อยอด พัฒนาไปสู่เป็นชิ้นงาน นำไปใช้ในสภาพการทำงานจริง ทดสอบมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งหาผ่านขั้นตอนเหล่านี้แล้วจะนำไปสู่บัญชีนวัตกรรม คือ เป็นของที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เทียบกับของที่ดีที่สุดในท้องตลาด ซึ่งผลงานที่อยู่ในบัญชี ภาครัฐก็จะมีมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือและให้สิทธิพิเศษ