xs
xsm
sm
md
lg

เผยแบบภาพร่างพระพิฆเนศประดับพระเมรุมาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เผยแบบภาพร่างพระพิฆเนศประดับพระเมรุมาศ ยึดคติโบราณ “พระพิเนก - พระพินาย” ปั้น 2 องค์ ประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์โขน พระวรกายสง่างาม พนมกรรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์ เตรียมขยายแบบส่งให้ประติมากรขึ้นรูป

นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานจัดสร้างประติมากรรมพระพิฆเนศประดับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพิ่มจำนวน 2 องค์ ว่า ขณะนี้ได้ประสานขอแบบภาพร่างพระพิฆเนศ โดยอาจารย์สุดสาคร ชายเสม เป็นผู้ออกแบบไว้ นำรูปแบบส่วนหนึ่งมาจากตราพระพิฆเนศ สัญลักษณ์กรมศิลปากร แต่เปลี่ยนจากลักษณะประทับนั่งเป็นประทับยืน เพื่อมาจัดทำต้นแบบงานประติมากรรมพระพิฆเนศติดตั้งชั้นที่ 2 บริเวณสะพานเกริน ชั้นเดียวกับที่มีประติมากรรมครุฑ โดยตนจะขยายแบบพระพิฆเนศต่อจากนั้นจะส่งให้ช่างปั้น พร้อมกับควบคุมผลงานให้เป็นไปตามแบบของอาจารย์สุดสาคร ซึ่งพระพิฆเนศออกแบบโดยยึดถือตามคติความเชื่อโบราณที่พระพิฆเนศมี 2 องค์ คือ พระพิเนก และ พระพินาย ดั่งบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ว่า “พระพิเนกนั้นเป็นนิลเอก พระพินายนั้นเป็นนิลขัน” ซึ่งอวตารมาอุบัติเป็นเสนาของพระราม เพื่อช่วยทำสงครามปราบทศกัณฐ์ โดยจะปั้นพระพิฆเนศในลักษณะประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์ของโขน พระวรกายใหญ่ สง่างาม มี 4 กร พระหัตถ์แต่ละด้านไม่ได้ถือศาสตราวุธครบ อาจจะพนมกรเพื่อรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์ เหมือนประติมากรรมมหาเทพที่ออกแบบพระอิศวร มี 4 กร โดย 2 กรพนมมือ เช่นเดียวกับพระพรหมจะพนมกร อีก 2 กรถืออาวุธ นอกจากนี้ จะต้องมีการออกแบบปั้นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับพระพิฆเนศทั้ง 2 องค์ ให้งดงาม

“คนโบราณ เชื่อว่า ลูกพระอิศวรที่มีศีรษะเป็นช้าง มี 2 องค์ คือ พระพิเนก และ พินาย ไม่ใช่พระพิฆเนศปางต่างๆ งานพระเมรุมาศครั้งนี้เป็นการออกแบบพิเศษโดยเฉพาะพระพิฆเนศ 2 องค์ประทับยืน มี 4 กร ซึ่งแต่ละองค์ถืออาวุธหรือสิ่งของต่างกัน เพราะต้นแบบพระพิฆเนศโบราณ มีทั้งถือขวาน ถือถ้วยทำด้วยกะโหลก ถือลูกประคำ ถือถ้วยขนมโมทกะ พระวรกายก็มีสีต่างกัน เช่น สีแดง ดังนั้น การทำงานปั้นพระพิฆเนศจะต้องประชุมหารือกับกลุ่มงานประติมากรรมเพื่อความชัดเจน” นายสมชาย กล่าว

ด้าน นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ ว่า จะดำเนินการตั้งนั่งร้านโดยรอบอาคารพระเมรุมาศให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ต่อจากนั้นจะเข้าติดตั้งงานสถาปัตยกรรมส่วนยอดพระเมรุมาศ โดยเริ่มจากการหุ้มเสาพระเมรุมาศ และติดตั้งชั้นเชิงกลอนจนถึงส่วนยอดทั้ง 7 ชั้น ซึ่งส่วนประกอบต่างๆ ดำเนินการผลิตอยู่ที่โรงงาน ขณะที่ส่วนฐานของพระเมรุมาศคืบหน้าไปมาก โดยได้ประกอบบันไดชั้นชาลา รั้วราชวัติ คาดว่า งานสถาปัตยกรรมส่วนฐานทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. จากนั้นจะเข้าสู่งานศิลปกรรมและการประดับผ้าทองย่น เนื่องจากการก่อสร้างพระเมรุมาศอยู่ในช่วงหน้าฝน จึงปรับการทำงานด้านสถาปัตยกรรมให้สามารถรองรับน้ำฝนและทนแดดได้ดี โดยการทาสีที่มีคุณสมบัติเป็นเนื้อฟิล์มเพื่อเคลือบผิวงานไม้อัดทั้งหมดไม่ให้น้ำซึม สำหรับไม้อัดก็มีคุณสมบัติกันน้ำ จึงถือเป็นการป้องกันถึง 2 ชั้น ส่วนช่วงรอยต่อจะใช้ซิลิโคนเข้ามาช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น

สำหรับการจัดทำส่วนฐานครั้งนี้มีขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร รวมรอบฐานทั้งหมดมีขนาด 240 เมตร แต่ละชั้นจะมีลวดลายประดับแตกต่างกัน เบื้องต้นได้สรุปลายบางส่วนแล้ว อาทิ ลายซุ้มคูหา โดยการทำงานครั้งนี้บางส่วนจะมีการใช้งานซ้อนไม้ลงไปเป็นชั้นลายต่างๆ ทีละชั้นเพื่อให้เกิดลวดลาย แล้วจึงทาสีทับลงไปต่างจากงานเดิมจะใช้กระดาษทองย่นมาติดที่ผิววัสดุสถาปัตยกรรมอีกครั้ง ทั้งนี้ จะเป็นการช่วยลดขั้นตอนการทำงานด้านกระดาษทองย่น และลดความเสียหายเกี่ยวกับฝนที่จะเกิดขึ้นกับกระดาษทองย่น ถือเป็นการใช้เทคนิคทางช่าง แต่ความงดงามยังคงอยู่ตามรูปแบบโบราณราชประเพณีเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น