กระทะเทพ “โคเรียคิง” ไม่เจรจาผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ผู้เสียหายติดต่อบริษัทรับการเยียวยาเอง ด้านมูลนิธิเดินหน้าฟ้องคดีแบบกลุ่ม คาด ยื่นฟ้องศาลต้น มิ.ย. นี้ เล็งเรียกร้องค่าเสียหายตามราคากระทะที่ซื้อ รวมค่าใช้จ่ายในการร้องเรียน
จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุชัดว่า ผลิตภัณฑ์กระทะ “โคเรียคิง” ตั้งราคาขายสูงจริง และมีคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ไม่ตรงตามคำโฆษณาอย่างที่ถูกผู้บริโภคร้องเรียน คืออ้างว่า ราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง (Fake Original Price)” ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ประกาศจะฟ้องคดีแบบกลุ่มแทนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากกระทะดังกล่าว
วันนี้ (25 พ.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยความเสียหายระหว่างกลุ่มผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามากับทางโคเรียคิง แต่ปรากฏว่า ทางบริษัทไม่ขอเข้าร่วมเจรจา โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายยื่นหลักฐานร้องเรียนเข้ามาประมาณ 109 ราย ทั้งนี้ ก่อนที่จะยื่นฟ้องตามขั้นตอน คือ จะมีการเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ทางตัวแทนของบริษัทได้แจ้งกับมูลนิธิ ว่า ไม่ประสงค์จะเจรจา และจะดำเนินการเยียวยากับผู้บริโภคเอง โดยให้ผู้บริโภคติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัท เพื่อขอรับค่าเสียหายเองได้ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิจึงเดินหน้าฟ้องคดีให้แก่ผู้บริโภค โดยจะฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม และเชื่อว่า คดีนี้จะเป็นคดีผู้บริโภคตัวอย่าง เพื่อทำให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการโฆษณาสินค้าและคุณภาพสินค้าเป็นไปตามที่โฆษณาให้ดีมากขึ้น โดยวันที่ 28 พ.ค. จะมีการนัดประชุมผู้เสียหายเพื่อตรวจสอบเอกสารต่างๆ และทำคำฟ้อง ก่อนที่จะยื่นฟ้องต่อศาลในช่วงต้น มิ.ย. นี้ โดยมี นายสิษฐวัศ ภาคินสกุลพัฒน์ ทนายความอาสา ดูแลคดีนี้
นายสิษฐวัศ กล่าวว่า การยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้น ผลของคำพิพากษาจะออกมาเหมือนกัน หากต่างคนต่างแยกกันฟ้อง ผลของคำพิพากษาจะออกมาแตกต่างกัน ดังนั้น การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหาย ซึ่งในการยื่นฟ้องครั้งนี้จะให้พิจารณาในเรื่องการโฆษณาเกินจริงที่มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545
นายภูวดิท ชลาธารโฆษิต ผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง กล่าวว่า ตนเองมีปัญหาสุขภาพ เป็นความดันสูง ไขมัน เห็นว่า กระทะนี้เคลือบ 8 ชั้น ไม่ต้องใช้น้ำมัน และเห็นโฆษณาบ่อยมาก และพรีเซนเตอร์ทำให้เห็นน่าเชื่อถือ ก็ตัดสินใจซื้อได้สั่งซื้อกระทะโคเรีย คิง ผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่ ม.ค. 2560 แต่กลับพบว่า คุณสมบัติไม่ค่อยตรงกับที่โฆษณาไว้ว่าไม่ต้องใช้น้ำมัน มีความลื่น 300% ทั้งที่ความจริงจะต้องใช้น้ำมันบ้าง จึงจะประกอบอาหารได้ เเละพื้นผิวกระทะไม่ได้ลื่นเหมือนที่โฆษณาไว้ ปัจจุบันเมื่อมีข่าวคุณสมบัติของกระทะออกมาว่าโฆษณาเกินจริง ทำให้เลิกใช้ และมายื่นหลักฐานต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องกลุ่มต่อไป
น.ส.นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการประชุมหารือกับตัวแทนผู้บริโภคที่ร้องเรียนและร่วมฟ้องคดีกับมูลนิธิในครั้งนี้ เห็นร่วมกันว่า จะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินตามราคาของกระทะที่ผู้บริโภคได้ซื้อไป ซึ่งรุ่นไดมอนด์อยู่ที่ราคา 3,900 บาท และรุ่นโกลด์ ราคา 3,300 บาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าเดินทางเพื่อติดต่อร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้มีหนังสือไปยังกรมศุลกากร เพื่อขอข้อมูลจำนวนสินค้าและราคานำเข้าของสินค้าดังกล่าว เพื่อประกอบการดำเนินคดี และในระหว่างนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อจัดทำคำฟ้องคดีแบบกลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะฟ้องได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ในตลาดยังพบว่ามีสินค้าอื่นๆ ที่ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาปลอม แล้วค่อยลดลงมา สร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องออกกำลังกาย เครื่องสำอาง สินค้าต่างๆ ซึ่งเสนอขายผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ที่ยังมีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไร้การควบคุม และกำลังแพร่หลายในสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ควรเข้มงวดในการตรวจสอบโฆษณาเหล่านี้ ก่อนออกสู่สายตาของผู้บริโภค