กรมอนามัย เผย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 40 พบแบคทีเรีย กรด - ด่าง หวั่นส่งผลโรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคบิด แนะประชาชนเลือกใช้ตู้น้ำที่สะอาด ได้มาตรฐาน
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของกรมอนามัย พบว่า ในปี 2559 มีน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 40 ซึ่งสาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ พบแบคทีเรีย ความเป็นกรด - ด่าง สี และ ความขุ่น ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคบิด เป็นต้น ประชาชนจึงควรเลือกใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ได้มาตรฐาน โดยสังเกตสภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งภายในและภายนอก ตัวตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อน หรือเป็นสนิม จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม ไม่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูล ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่เป็นคราบสกปรก ปราศจากฝุ่นละอองและคราบอื่นใด หัวจ่ายน้ำต้องเป็นวัสดุที่เหมาะสม เช่น สเตนเลส ไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง และที่สำคัญ ต้องสะอาดไม่เป็นตะไคร่ หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ สังเกตสี กลิ่น และรสชาติของน้ำ จะต้องไม่ผิดปกติจากที่เคยใช้เป็นประจำ ด้านหน้าของตู้ต้องติดฉลากแสดงการแนะนำการใช้งาน รวมทั้งมีสติกเกอร์การตรวจรับรองที่มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และต้องระบุชื่อผู้ตรวจ ชื่อบริษัท วันเวลาที่มาตรวจอย่างชัดเจน
นพ.ดนัย กล่าวว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทที่ 3 (15) การผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค น้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยราชการส่วนท้องถิ่นจะต้องออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมของกิจการดังกล่าวในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และควบคุมดูแลให้เจ้าของ หรือผู้ให้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดูแลรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้มีคุณภาพตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เมื่อราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อกำหนดของท้องถิ่นกำหนดให้กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่ต้องควบคุมในพื้นที่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของ หรือผู้ให้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่จะต้องมายื่นขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ทั้งนี้ หากประชาชนพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพ มีสภาพชำรุด หรือสงสัยว่าน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น ไม่สะอาดอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สามารถแจ้งไปยังราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เข้ามาตรวจสอบและดูแลได้ เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของราชการส่วนท้องถิ่นในการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายการสาธารณสุข” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด