xs
xsm
sm
md
lg

2 ปีคุมราคาหวยไม่สำเร็จ “วัด-ที่ท่องเที่ยว-ร้านอาหาร” ขายเกินราคา พุ่งใบละ 150 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลสำรวจชี้ 2 ปี ยังคุมราคาสลากไม่สำเร็จ คอหวยต้องจ่ายแพง พบในวัด - ที่ท่องเที่ยว - ร้านอาหารขายเกินราคามากสุด พุ่งใบละ 150 บาท เผยผู้ซื้อ 46% ไม่ใส่ใจ - ซื้อช่วยคนขาย แต่ 1 ใน 3 จำใจควักกระเป๋าจ่าย เพราะไม่มีทางเลือก

วันนี้ (23 พ.ค.) ที่โรงแรมแมนดาริน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก ร่วมกับ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จัดเสวนาหัวข้อ “2 ปี แก้ปัญหาสลาก 80 บาท ก้าวให้พ้นหวยออนไลน์” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อการทำงานของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลช่วงสองปีที่ผ่านมา

นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา งวดวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่สำนักงานสลากฯได้พิมพ์สลากเพิ่มเป็น 71 ล้านฉบับ พบว่า แม้ประชาชนหาซื้อสลากฯได้ในราคา 80 บาท แต่โดยภาพรวมแล้วพบการขายสลากเกินราคาในทุกที่ เฉลี่ยอยู่ที่ 81.23 บาท โดยสถานที่ขายเกินราคาสูงที่สุด 3 แหล่งคือ ร้านอาหาร เฉลี่ยใบละ 85.26 บาท รองลงมา คือ วัด หรือศาสนสถาน ใบละ 85.04 บาท และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ใบละ 84.69 บาท โดยราคาสูงสุดที่มีการจำหน่ายตามแหล่งต่างๆ อยู่ที่ 100 - 120 บาท ยกเว้นที่วัดหรือศาสนสถาน พบว่าราคาสูงสุดถึงใบละ 150 บาท เลยทีเดียว

“อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่พบ คือ การจำหน่ายสลากแบบรวมชุด ซึ่งพบว่าขายอยู่ที่ใบละ 100 บาท และสูงสุดอยู่ที่ใบละ 150 บาท ทั้งนี้ เมื่อถามถึงเหตุผลในการซื้อสลากเกินราคา พบว่า ผู้ซื้อ 46% ระบุว่า ไม่ได้ใส่ใจที่ต้องซื้อสลากแพง และยอมซื้อแพงเพื่อช่วยคนขาย ขณะที่ร้อยละ 39.5 ตอบว่า ไม่มีทางเลือก และร้อยละ 14 รู้สึกว่าถูกโกงจากการต้องซื้อสลากแพง” นายธน กล่าว

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดการพนัน กล่าวว่า ปัจจุบันสลากฯได้ครองแชมป์การพนันอันดับหนึ่งแซงหวยใต้ดินแล้ว เป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาสลากเกินราคา ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคอพนัน ถึงสลากจะขายดี แต่หวยใต้ดินก็ไม่ได้หมดไป และกลายเป็นว่าสลาก กับหวยใต้ดิน ที่เรียกรวมๆ ว่า “หวย” มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเสี่ยงโชคของคนไทย ทำให้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน คนไทยไม่มีแก่ใจจะทำอะไร แม้ว่าการแก้ปัญหาของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ชุดปัจจุบันจะน่าชื่นชม แต่ต้องยอมรับว่าก็มีผลข้างเคียงต่อสังคม และดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลที่ยั่งยืน ออกอาการเป็นลิงแก้แห ยิ่งแก้กลับยิ่งยุ่ง กิจการสลากควรต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าการผลิตและจำหน่ายเพียงเท่านั้น การแก้ปัญหาโดยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างหวยออนไลน์ อาจนำมาสู่ปัญหาใหม่ เช่น จะมีการเล่นพนันเพิ่มมากขึ้น เกิดการกระทบต่อผู้ค้ารายย่อย ที่จะถูกแย่งชิงตลาด และอาจมีการนำสลากออนไลน์มาขายต่อในราคาที่แพงกว่ากฎหมายกำหนด

“กิจการสลากฯต้องกล้ายอมรับอย่างสง่าผ่าเผย ว่า สลากฯเป็นการพนันที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคม หากจะทำอะไรต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อปัญหาการพนันในสังคมด้วย การที่รัฐจะแก้ปัญหาโดยเพิ่มจำนวนสลากฯหรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ โดยยึดสมมติฐานของการแข่งขันเสรีไม่ใช่วิสัยที่สมควร ตรงกันข้ามรัฐควรควบคุมสินค้า จำนวนผู้ค้า รวมทั้งรูปแบบและวิธีการจำหน่ายต่างๆ เช่น ห้ามการรวมชุดขาย ห้ามเร่ขาย และคณะกรรมการสลากฯ ควรใช้กองทุนสลากฯเพื่อพัฒนาสังคม ทำงานเชิงรุก สร้างแคมเปญรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาการพนัน สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และกิจการสลากฯจะสวยหล่อขึ้นอย่างมาก หากมีมาตรการที่คำนึงถึงเด็กและเยาวชน และมุ่งสร้างการเรียนรู้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้เยาวชนเห็นถึงโทษภัยของการพนัน ที่สำคัญ ต้องวางหลักให้กิจการสลากหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำของฝ่ายการเมือง โดยปรับโครงสร้างของคณะกรรมการสลากฯให้มีสัดส่วนของภาคนอกราชการมากขึ้น มีที่มาอย่างโปร่งใส และคัดสรรคุณภาพ เพราะหากยังใช้โครงสร้างแบบเดิมๆ เมื่อ คสช. จากไปสภาพปัญหาแบบเดิมๆ จะกลับมา” นายธนากร กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง กล่าวว่า คณะกรรมการสลากฯชุดนี้ มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย จัดระเบียบได้ดีกว่าคณะกรรมการชุดที่ผ่านมา รวมทั้งกลุ่มธุรกิจสลากและผู้ค้าสลากเริ่มปรับตัวเข้าหาระบบ ทำให้ราคาสลากโดยรวมมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องสลากรวมชุด ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องหาทางแก้ต่อไป

“แม้การพิมพ์สลากเพิ่มเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น เพราะโควตาองค์กร มูลนิธิ ยังคงอยู่ในระบบ แม้ว่าการทำงานของบอร์ดชุดนี้จะพยายามทลายระบบนี้ลง แต่เป้าหมายหลักของการมีสลาก คือ หาเงินส่งเข้ารัฐ ด้วยเหตุนี้ทำให้สำนักงานสลากฯยังต้องหาหลักประกันความเสี่ยงในการจำหน่ายสลาก ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลใจคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะธุรกิจสลากเป็นธุรกิจที่อิงกับการเมือง ดังนั้น ควรกระจายสลากอย่างเป็นธรรมไปตามโครงสร้างการค้าสลาก โดยต้องถึงมือผู้ค้าสลากรายย่อยให้มากที่สุด รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายสลากควรนำไปช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งเป็นหลักสากลที่ต่างประเทศทำกัน และปกป้องเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงสลากก่อนวัยอันควร” ผศ.ดร.รัตพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น