xs
xsm
sm
md
lg

7 วิธีรับมือหากพบ “วัตถุต้องสงสัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. แนะวิธีสังเกตวัตถุต้องสงสัย “ระเบิด” พร้อมออก 7 วิธีดูแลตนเองหากพบวัตถุต้องสงสัย ป้องกันเกิดเหตุเจ็บตาย

จากกรณีการลอบวางระเบิดในพื้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากกว่า 20 ราย

วันนี้ (23 พ.ค.) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า แนวทางการดูแลตนเองของประชาชน หากเห็นวัตถุต้องสงสัย ให้ยึดหลักดังนี้ 1. หากพบวัตถุต้องสงสัยให้รีบ โทร.แจ้ง 191 ทั้งนี้ ห้ามแตะต้อง หรือเคลื่อนย้ายวัตถุต้องสงสัยโดยเด็ดขาด 2. ตั้งสติและรีบออกจากพื้นที่เสี่ยงทันที รวมทั้งเร่งอพยพผู้คนโดยด่วน แต่ต้องใช้วิธีการที่นุ่มนวลเพื่อไม่ให้เกิดอาการตื่นตระหนก 3. หากวัตถุต้องสงสัยระเบิด หรือเกิดประกายไฟ ให้หาที่กำบังที่แข็งแรง 4. หากติดอยู่ภายในอาคารให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุดช่องประตู เพื่อป้องกันแก๊สพิษ และต้องหาที่กำบังแรงระเบิดที่มั่นคงแข็งแรง 5. หลบอยู่เหนือลม ปิดเครื่องปรับอากาศ และใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อป้องกันอันตราย 6. หากเป็นไปได้ให้นำยางรถยนต์ไปล้อมวัตถุต้องสงสัยไว้ และ 7. หากพบเห็นผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุให้รีบ โทร.แจ้งสายด่วน1669

“สำหรับวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็น “ระเบิด” มีข้อสังเกตดังนี้ 1. เป็นสิ่งของวางอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ เช่น เป้, กระเป๋า, ถุง, กล่อง ฯลฯ สอบถามหาเจ้าของแล้ว ไม่มีผู้แสดงตนให้สงสัยว่าเป็นวัตถุอันตราย 2. เป็นวัตถุที่มีลักษณะภายนอกผิดปกติจากรูปเดิม เช่น สีที่แตกต่างจากความเป็นจริง กล่องปิดผนึกไม่เรียบร้อย หรือมีรอยยับบริเวณที่ปิดผนึก และ 3. เป็นวัตถุที่ไม่เคยพบเห็น ณ ที่นั้นมาก่อน มีส่วนประกอบของสายไฟ, แบตเตอรี่, นาฬิกา หรือ โทรศัพท์” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น