โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
คนส่วนใหญ่อาจลืมไปแล้วว่า ในอดีต “กรุงเทพมหานคร” เคยได้รับสมญานามว่า “เวนิสตะวันออก” มาก่อน เนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางเมืองและมีคูคลองต่างๆ จำนวนมากที่เชื่อมถึงกันหมด ขณะที่ชาวเมืองก็มีความผูกพันกับ “สายน้ำ” เป็นอย่างมาก เพราะเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม ต่างจากปัจจุบันที่คูคลองถูกลดความสำคัญลงไปเพื่อการระบายน้ำ และไม่ได้ใสสะอาดเหมือนดังแต่ก่อน
สาเหตุหลักมาจากการขยายและการพัฒนาเมือง โดยมีการถมคลองต่างๆ จำนวนมาก เพื่อสร้างถนนและที่อยู่อาศัย แม้จะถูกถมคลองไปเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ ก็ยังมีคูคลองอยู่ถึง 1,682 คูคลอง ยาวรวม 2,604 กิโลเมตร แต่ที่ต้องยอมรับ คือ คลองเกือบทั้งหมดกลับสิ้นสภาพในฐานะทางสัญจรทางน้ำจากความตื้นเขิน และคลองจำนวนไม่น้อยต่างแปรสภาพไปเป็นที่รองรับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ร้านค้า และโรงงานต่างๆ จนกลายเป็นน้ำเน่าเสียและเต็มไปด้วยขยะ
ความเป็น “เมืองน้ำ” จึงได้เลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบันคลองในกรุงเทพฯ ที่ยังคงวิถีแห่งสายน้ำไว้ จึงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง หากเป็นด้านการคมนาคมขนส่ง จะมีคลองแสนแสบ - คลองมหานาค คลองภาษีเจริญ คลองผดุงกรุงเกษม และ คลองดาวคะนอง ขณะที่การล่องเรือเที่ยวคลองก็จะมีมากหน่อย อาทิ ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ที่จะมีการล่องเรือทั้งคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองมอญ คลองลัดมะยม เป็นต้น หรือตลาดน้ำขวัญ-เรียม ริมคลองแสนแสบ ย่านรามคำแหง รวมไปถึงล่องเรือชมสองฝั่งคลองพระโขนง และคลองประเวศ เป็นต้น
แม้วิถีชีวิตแห่งสายน้ำจะไม่ได้เป็นหัวใจหลักของชาวกรุงเทพฯ อีกต่อไป แต่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เอง ก็มีแนวคิดที่จะฟื้นฟูลำคลองให้กลับมามีชีวิตดังเดิม เพื่อทวงสมญานาม “เวนิสตะวันออก” คืนมา แม้จะไม่สามารถเชื่อมการสัญจรของคลองต่างๆ ให้เหมือนเดิมได้ดังในอดีต เนื่องจากผังเมืองและถนนหนทางต่างๆ ก็ตาม
สำหรับแผนการยกระดับคุณภาพคลองในกรุงเทพฯ ให้คืนสู่ความเป็นเวนิสตะวันออกนั้น หลักๆ คือ การฟื้นฟูลำคลองให้ใสสะอาด และเพิ่มวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ ทั้งแง่การจราจรขนส่งและการท่องเที่ยว ก็ถือว่าช่วยฟื้นเสน่ห์ความเป็นเวนิสตะวันออกกลับคืนมาได้ โดยส่วนของฟื้นฟูลำคลองนั้น คือ การเปลี่ยน “น้ำเสีย” ให้เป็น “น้ำดี” โดยประเด็นนี้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าว่า จริงๆ แล้ว กทม. ก็มีการดำเนินการมานานแล้ว คือ การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปัจจุบันมีโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่อยู่ทั้งหมด 8 โรง ประกอบด้วย 1. โรงบำบัดน้ำเสียสี่พระยา 2. โรงบำบัดน้ำเสียรัตนโกสินทร์ ตลาดบ้านพานถม 3. โรงบำบัดน้ำเสียดินแดง 4. โรงบำบัดน้ำเสียงช่องนนทรี 5. โรงบำบัดนำเสียหนองแขม 6. โรงบำบัดน้ำเสียทุ่งครุ 7. โรงบำบัดน้ำเสียจตุจักร และ 8. โรงบำบัดน้ำเสียศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางซื่อ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพียง 21 เขต คิดเป็น 14% ของพื้นที่ กทม. ความสามารถในการบำบัด 1.12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 45% ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือ 2.54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนโรงบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กอีก 12 โรง เป็นการบำบัดน้ำเสียในชุมชน ซึ่งได้รับโอนมาจากการเคหะแห่งชาติ
“แต่หากจะสร้างโรงบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตของ กทม. จะต้องสร้างโรงบำบัดน้ำเสียขึ้นอีก 15 โรง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 71,000 ล้านบาท ซึ่งก็พยายามดำเนินการอยู่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2556 คาดว่า จะสร้างเสร็จทั้งหมด คือ ปี 2583 ก็อีกราว 20 กว่าปี ส่วนงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมากขนาดนั้น กทม. ก็มีแนวคิด คือ การเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งตอนนี้มีข้อบัญญัติออกมาแล้ว แต่ไม่เคยใช้ เพื่อนำเงินก้อนนั้นมาใช้ในการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในกรุงเทพมหานครให้มากที่สุด” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
สำหรับแผนการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียอีก 15 แห่ง ประกอบด้วย โครงการบำบัดน้ำเสียธนบุรีใต้ ทุ่งครุเหนือ วังทองหลาง ดอนเมือง ลาดพร้าว จอมทอง มีนบุรีระยะที่ 2 บึงกุ่ม สายไหม ลาดกระบัง 2 ลาดกระบัง 1 หนองจอก 1 คลองสามวา ลาดกระบัง 3 และ หนองจอก 2 ครอบคลุมพื้นที่ 33.59% ของ กทม. จากทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร สามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึง 1.63 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 96.7% ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือ 3.55 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการบำบัดน้ำเสียแล้ว ประเด็นสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสียมากกว่า ซึ่งปัจจุบันปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ คือ สร้างบ้านรุกล้ำไปในพื้นที่คลอง และทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ ยังมาจากผู้ประกอบการต่างๆ ที่ไม่ได้มีการสร้างบ่อดักไขมันก่อนที่จะปล่อยน้ำเสียลงในท่อระบาย ซึ่งจริงๆ แล้วมีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำ รวมถึงโรงงานต่างๆ ที่ทิ้งน้ำลงคลองเลยโดยไม่มีระบบบำบัด ส่วนเรื่องคลองระบบปิดแล้วทำให้น้ำเน่าเสียไม่ใช่ปัญหาหลักสำคัญ เพราะคลองส่วนใหญ่เป็นคลองที่สามารถเชื่อมต่อกันได้
“สิ่งสำคัญคือ จะต้องสร้างจิตสำนึกของผู้คน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ริมคลอง ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีโครงการคนรักคลองอยู่ ก็พยายามเชิญชวนให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงคำพูดที่ว่า สายน้ำแห่งชีวิต เพราะคนกับน้ำเป็นของคู่กัน เมื่อน้ำเน่าเสียก็ทำให้สภาวะแวดล้อมของเราเสียไป ถ้าเราช่วยกันดูแลเรื่องน้ำ ไม่ทิ้งขยะลงคลอง ไม่รุกล้ำเข้าไปในคลอง ไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลในคลอง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะหากทุกคนร่วมกันรักษาความสะอาดของคลอง ปัญหาน้ำเน่าเสียก็จะไม่เกิดและดีขึ้น โดย กทม.ก็ทำทั้งในเรื่องของจิตสำนึกและการใช้กฎหมายเข้ามา เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่จะเสียค่าธรรมเนียมเรื่องจ่ายค่าน้ำเสีย เพื่อนำเงินไปใช้ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ๆ ขึ้นมา” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ส่วนการฟื้นวิถีชีวิตแห่งสายน้ำให้กลับคืนมา นายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า ระบบสัญจรทางน้ำ หากเป็นของ กทม. ดำเนินการเอง ก็จะมีเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ และ คลองผดุงกรุงเกษม ส่วนที่เอกชนดำเนินการก็เช่น เรือด่วนคลองแสนแสบ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเรื่องของการเชื่อมกับระบบขนส่งหลัก สำหรับการขยายการสัญจรทางน้ำในคลองอื่นๆ ของ กทม. เพื่อเชื่อมระบบขนส่งหลักนั้น ถือว่ายังมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การรุกล้ำพื้นที่คลอง ความตื้นของคลอง ความสูงของสะพานข้ามคลองที่ไม่ได้สูงมาก รวมไปถึงเรื่องของประตูกั้นระบายน้ำ เพราะระบบคลองของ กทม. ปัจจุบันจะเน้นในเรื่องของการช่วยระบายน้ำมากกว่า
นายสุธน กล่าวอีกว่า อย่างกรณีการจะขยายส่วนต่อขยายเรือด่วนคลองแสนแสบ จากท่าเรืองวัดศรีบุญเรือง ไปถึงมีนบุรี ตรงนี้ก็ต้องยุติไปก่อน เพราะการเดินเรือก็ให้เกิดคลื่น ซึ่งจะไปเซาะทำให้ตลิ่งพัง อย่างไรก็ตาม หากจัดการปัญหาและอุปสรรคต่อการเดินเรือได้ การจะเปิดเส้นสัญจรทางน้ำ เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงระบบขนส่งหลักอย่างรถไฟฟ้าต่างๆ ได้ง่ายขึ้นก็มีความเป็นไปได้ เช่น คลองลาดพร้าว หากแก้ปัญหาเรื่องการรุกล้ำพื้นที่คลอง และสร้างเขื่อนเรียบร้อย ก็จะมีการพัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางสัญจรทางน้ำ เพราะคลองแห่งนี้ผ่านพื้นที่ชุมชนเส้นทางเหนือมาก เป็นต้น
“เรียกได้ว่าคลองสายใหญ่หากแก้ปัญหาต่างๆ ในคลองได้ โอกาสสร้างเส้นทางสัญจรทางน้ำก็มีมากขึ้น ส่วนคลองสายย่อยๆ สายเล็กต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนก็จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาวิถีชีวิตริมคลอง ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายแห่ง เช่น ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เป็นต้น หรืออย่างเร็วๆ นี้ ก็น่าจะมีการพัฒนาคลองโอ่งอ่างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน แต่ด้วยสะพานที่ไม่สูงมาก ก็อาจจะใช้เรือที่มีขนาดใหญ่ไม่ได้” นายสุธน กล่าว
หากคูคลองใน กทม. กลับมาสะอาด ผู้คนหันมาใช้ชีวิตร่วมกับคลองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง หรือการท่องเที่ยว ก็จะเพิ่มเสน่ห์ความเป็นเมืองน้ำให้แก่ กทม. เพิ่มมากขึ้น การจะหวนคืนสู่สมญานาม “เวนิสตะวันออก” ก็มีความเป็นไปได้
แต่สิ่งสำคัญคือ “คนกรุง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ต้องช่วยกันรักษาความสะอาดของคลองก่อน ตราบใดที่ยังไร้จิตสำนึก ยังคงทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงลำน้ำ ความฝันเรื่องการเป็นเวนิสตะวันออกของ กทม. ที่ชาวกรุงหลายคนต้องการ ก็คงเป็นหมันไปตลอดกาล
คนส่วนใหญ่อาจลืมไปแล้วว่า ในอดีต “กรุงเทพมหานคร” เคยได้รับสมญานามว่า “เวนิสตะวันออก” มาก่อน เนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางเมืองและมีคูคลองต่างๆ จำนวนมากที่เชื่อมถึงกันหมด ขณะที่ชาวเมืองก็มีความผูกพันกับ “สายน้ำ” เป็นอย่างมาก เพราะเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม ต่างจากปัจจุบันที่คูคลองถูกลดความสำคัญลงไปเพื่อการระบายน้ำ และไม่ได้ใสสะอาดเหมือนดังแต่ก่อน
สาเหตุหลักมาจากการขยายและการพัฒนาเมือง โดยมีการถมคลองต่างๆ จำนวนมาก เพื่อสร้างถนนและที่อยู่อาศัย แม้จะถูกถมคลองไปเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ ก็ยังมีคูคลองอยู่ถึง 1,682 คูคลอง ยาวรวม 2,604 กิโลเมตร แต่ที่ต้องยอมรับ คือ คลองเกือบทั้งหมดกลับสิ้นสภาพในฐานะทางสัญจรทางน้ำจากความตื้นเขิน และคลองจำนวนไม่น้อยต่างแปรสภาพไปเป็นที่รองรับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ร้านค้า และโรงงานต่างๆ จนกลายเป็นน้ำเน่าเสียและเต็มไปด้วยขยะ
ความเป็น “เมืองน้ำ” จึงได้เลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบันคลองในกรุงเทพฯ ที่ยังคงวิถีแห่งสายน้ำไว้ จึงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง หากเป็นด้านการคมนาคมขนส่ง จะมีคลองแสนแสบ - คลองมหานาค คลองภาษีเจริญ คลองผดุงกรุงเกษม และ คลองดาวคะนอง ขณะที่การล่องเรือเที่ยวคลองก็จะมีมากหน่อย อาทิ ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ที่จะมีการล่องเรือทั้งคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองมอญ คลองลัดมะยม เป็นต้น หรือตลาดน้ำขวัญ-เรียม ริมคลองแสนแสบ ย่านรามคำแหง รวมไปถึงล่องเรือชมสองฝั่งคลองพระโขนง และคลองประเวศ เป็นต้น
แม้วิถีชีวิตแห่งสายน้ำจะไม่ได้เป็นหัวใจหลักของชาวกรุงเทพฯ อีกต่อไป แต่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เอง ก็มีแนวคิดที่จะฟื้นฟูลำคลองให้กลับมามีชีวิตดังเดิม เพื่อทวงสมญานาม “เวนิสตะวันออก” คืนมา แม้จะไม่สามารถเชื่อมการสัญจรของคลองต่างๆ ให้เหมือนเดิมได้ดังในอดีต เนื่องจากผังเมืองและถนนหนทางต่างๆ ก็ตาม
สำหรับแผนการยกระดับคุณภาพคลองในกรุงเทพฯ ให้คืนสู่ความเป็นเวนิสตะวันออกนั้น หลักๆ คือ การฟื้นฟูลำคลองให้ใสสะอาด และเพิ่มวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ ทั้งแง่การจราจรขนส่งและการท่องเที่ยว ก็ถือว่าช่วยฟื้นเสน่ห์ความเป็นเวนิสตะวันออกกลับคืนมาได้ โดยส่วนของฟื้นฟูลำคลองนั้น คือ การเปลี่ยน “น้ำเสีย” ให้เป็น “น้ำดี” โดยประเด็นนี้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าว่า จริงๆ แล้ว กทม. ก็มีการดำเนินการมานานแล้ว คือ การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปัจจุบันมีโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่อยู่ทั้งหมด 8 โรง ประกอบด้วย 1. โรงบำบัดน้ำเสียสี่พระยา 2. โรงบำบัดน้ำเสียรัตนโกสินทร์ ตลาดบ้านพานถม 3. โรงบำบัดน้ำเสียดินแดง 4. โรงบำบัดน้ำเสียงช่องนนทรี 5. โรงบำบัดนำเสียหนองแขม 6. โรงบำบัดน้ำเสียทุ่งครุ 7. โรงบำบัดน้ำเสียจตุจักร และ 8. โรงบำบัดน้ำเสียศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางซื่อ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพียง 21 เขต คิดเป็น 14% ของพื้นที่ กทม. ความสามารถในการบำบัด 1.12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 45% ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือ 2.54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนโรงบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กอีก 12 โรง เป็นการบำบัดน้ำเสียในชุมชน ซึ่งได้รับโอนมาจากการเคหะแห่งชาติ
“แต่หากจะสร้างโรงบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตของ กทม. จะต้องสร้างโรงบำบัดน้ำเสียขึ้นอีก 15 โรง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 71,000 ล้านบาท ซึ่งก็พยายามดำเนินการอยู่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2556 คาดว่า จะสร้างเสร็จทั้งหมด คือ ปี 2583 ก็อีกราว 20 กว่าปี ส่วนงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมากขนาดนั้น กทม. ก็มีแนวคิด คือ การเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งตอนนี้มีข้อบัญญัติออกมาแล้ว แต่ไม่เคยใช้ เพื่อนำเงินก้อนนั้นมาใช้ในการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในกรุงเทพมหานครให้มากที่สุด” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
สำหรับแผนการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียอีก 15 แห่ง ประกอบด้วย โครงการบำบัดน้ำเสียธนบุรีใต้ ทุ่งครุเหนือ วังทองหลาง ดอนเมือง ลาดพร้าว จอมทอง มีนบุรีระยะที่ 2 บึงกุ่ม สายไหม ลาดกระบัง 2 ลาดกระบัง 1 หนองจอก 1 คลองสามวา ลาดกระบัง 3 และ หนองจอก 2 ครอบคลุมพื้นที่ 33.59% ของ กทม. จากทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร สามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึง 1.63 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 96.7% ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือ 3.55 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการบำบัดน้ำเสียแล้ว ประเด็นสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสียมากกว่า ซึ่งปัจจุบันปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ คือ สร้างบ้านรุกล้ำไปในพื้นที่คลอง และทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ ยังมาจากผู้ประกอบการต่างๆ ที่ไม่ได้มีการสร้างบ่อดักไขมันก่อนที่จะปล่อยน้ำเสียลงในท่อระบาย ซึ่งจริงๆ แล้วมีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำ รวมถึงโรงงานต่างๆ ที่ทิ้งน้ำลงคลองเลยโดยไม่มีระบบบำบัด ส่วนเรื่องคลองระบบปิดแล้วทำให้น้ำเน่าเสียไม่ใช่ปัญหาหลักสำคัญ เพราะคลองส่วนใหญ่เป็นคลองที่สามารถเชื่อมต่อกันได้
“สิ่งสำคัญคือ จะต้องสร้างจิตสำนึกของผู้คน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ริมคลอง ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีโครงการคนรักคลองอยู่ ก็พยายามเชิญชวนให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงคำพูดที่ว่า สายน้ำแห่งชีวิต เพราะคนกับน้ำเป็นของคู่กัน เมื่อน้ำเน่าเสียก็ทำให้สภาวะแวดล้อมของเราเสียไป ถ้าเราช่วยกันดูแลเรื่องน้ำ ไม่ทิ้งขยะลงคลอง ไม่รุกล้ำเข้าไปในคลอง ไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลในคลอง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะหากทุกคนร่วมกันรักษาความสะอาดของคลอง ปัญหาน้ำเน่าเสียก็จะไม่เกิดและดีขึ้น โดย กทม.ก็ทำทั้งในเรื่องของจิตสำนึกและการใช้กฎหมายเข้ามา เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่จะเสียค่าธรรมเนียมเรื่องจ่ายค่าน้ำเสีย เพื่อนำเงินไปใช้ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ๆ ขึ้นมา” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ส่วนการฟื้นวิถีชีวิตแห่งสายน้ำให้กลับคืนมา นายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า ระบบสัญจรทางน้ำ หากเป็นของ กทม. ดำเนินการเอง ก็จะมีเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ และ คลองผดุงกรุงเกษม ส่วนที่เอกชนดำเนินการก็เช่น เรือด่วนคลองแสนแสบ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเรื่องของการเชื่อมกับระบบขนส่งหลัก สำหรับการขยายการสัญจรทางน้ำในคลองอื่นๆ ของ กทม. เพื่อเชื่อมระบบขนส่งหลักนั้น ถือว่ายังมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การรุกล้ำพื้นที่คลอง ความตื้นของคลอง ความสูงของสะพานข้ามคลองที่ไม่ได้สูงมาก รวมไปถึงเรื่องของประตูกั้นระบายน้ำ เพราะระบบคลองของ กทม. ปัจจุบันจะเน้นในเรื่องของการช่วยระบายน้ำมากกว่า
นายสุธน กล่าวอีกว่า อย่างกรณีการจะขยายส่วนต่อขยายเรือด่วนคลองแสนแสบ จากท่าเรืองวัดศรีบุญเรือง ไปถึงมีนบุรี ตรงนี้ก็ต้องยุติไปก่อน เพราะการเดินเรือก็ให้เกิดคลื่น ซึ่งจะไปเซาะทำให้ตลิ่งพัง อย่างไรก็ตาม หากจัดการปัญหาและอุปสรรคต่อการเดินเรือได้ การจะเปิดเส้นสัญจรทางน้ำ เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงระบบขนส่งหลักอย่างรถไฟฟ้าต่างๆ ได้ง่ายขึ้นก็มีความเป็นไปได้ เช่น คลองลาดพร้าว หากแก้ปัญหาเรื่องการรุกล้ำพื้นที่คลอง และสร้างเขื่อนเรียบร้อย ก็จะมีการพัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางสัญจรทางน้ำ เพราะคลองแห่งนี้ผ่านพื้นที่ชุมชนเส้นทางเหนือมาก เป็นต้น
“เรียกได้ว่าคลองสายใหญ่หากแก้ปัญหาต่างๆ ในคลองได้ โอกาสสร้างเส้นทางสัญจรทางน้ำก็มีมากขึ้น ส่วนคลองสายย่อยๆ สายเล็กต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนก็จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาวิถีชีวิตริมคลอง ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายแห่ง เช่น ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เป็นต้น หรืออย่างเร็วๆ นี้ ก็น่าจะมีการพัฒนาคลองโอ่งอ่างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน แต่ด้วยสะพานที่ไม่สูงมาก ก็อาจจะใช้เรือที่มีขนาดใหญ่ไม่ได้” นายสุธน กล่าว
หากคูคลองใน กทม. กลับมาสะอาด ผู้คนหันมาใช้ชีวิตร่วมกับคลองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง หรือการท่องเที่ยว ก็จะเพิ่มเสน่ห์ความเป็นเมืองน้ำให้แก่ กทม. เพิ่มมากขึ้น การจะหวนคืนสู่สมญานาม “เวนิสตะวันออก” ก็มีความเป็นไปได้
แต่สิ่งสำคัญคือ “คนกรุง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ต้องช่วยกันรักษาความสะอาดของคลองก่อน ตราบใดที่ยังไร้จิตสำนึก ยังคงทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงลำน้ำ ความฝันเรื่องการเป็นเวนิสตะวันออกของ กทม. ที่ชาวกรุงหลายคนต้องการ ก็คงเป็นหมันไปตลอดกาล