xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.สั่งศึกษาภาระงาน “หมอ” จ่อออกระเบียบช่วยเหลือรับผลกระทบขณะทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. สั่งศึกษาภาระงาน “หมอ” เพิ่ม หวังแก้ปัญหาตรงจุด พร้อมจ่อออกระเบียบเยียวยาช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์เจ็บ - ตาย จากการทำงาน ด้านอาจารย์แพทย์ ชี้ ไทยจำนวนผู้ป่วยมาก ทำ รพ. แออัด หมอทำงานติดต่อกันนาน เสี่ยงติดเชื้อง่าย ไม่สามารถทำตามมาตรฐานเวลาทำงานของแพทย์ได้

จากกรณีการเสียชีวิตของ นพ.ฐาปกรณ์ ทองเกื้อ หรือ หมอบอล อายุ 30 ปี แพทย์ประจำ รพ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากมีอาการป่วย แต่ยังมารักษาคนไข้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ไม่มีระบบดูแลและแก้ปัญหาภาระงานหนักเกินไปของบุคลากรทางการแพทย์ โดยวันที่ 23 พ.ค. 2560 จะมีการประชุมหารือเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว โดยผู้จัดใช้ชื่อว่า คน สธ. ที่โรงแรมมารวยการ์เดนท์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า เข้าใจดีว่า หลายฝ่ายเป็นห่วง และมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับภาระงานของแพทย์ที่หนัก ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ยังมีวิชาชีพอื่นๆ ด้วยที่ทำงานเพื่อคนไข้อย่างมาก จุดนี้ก็ต้องวางระบบให้สอดคล้องกับภาระงาน ซึ่งกรณีภาระงานของแพทย์ ตนได้มอบหมายให้ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ซึ่งเคยศึกษาเกี่ยวกับภาระงานแพทย์ โดยให้รวบรวมข้อมูลว่า ภาระงาน เวลาในการทำงาน เวลาในการอยู่เวรนั้นเป็นอย่างไร จากนั้นให้เสนอมายังตนอีกครั้ง เพราะตัวเลขเหล่านี้จะทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง และบริหารจัดการอย่างตรงจุด จากปัจจุบันก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้นอีก

เมื่อถามถึงภาระงานที่หนักทำให้เสี่ยงเกิดข้อผิดพลาดและอาจมีผลต่อชีวิต จะมีมาตรการอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ตนเห็นใจ และเข้าใจมาตลอด อย่างกรณีพยาบาลขึ้นรถฉุกเฉินไปรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ นพ.มารุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. ไปจัดทำร่างระเบียบในการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับผลกระทบระหว่างปฏิบัติหน้าที่ คล้ายๆ กรณีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการก็จะมีการช่วยเหลือเบื้องต้น โดยในร่างระเบียบช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขนั้น จะจ่ายเบื้องต้น 4 แสนบาท และจะขอหารือกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. ว่า จะมีแนวทางช่วยเหลือเรื่องนี้อย่างไรต่อ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะช่วยในเรื่องของการเยียวยาอื่นที่นอกจากเงิน เช่น หากเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และมีลูก สามารถเปิดให้ลูกบรรจุข้าราชการได้เลยหรือไม่ หรือแนวทางช่วยเหลืออื่นๆ เป็นต้น

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาวิชาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนัดประชุมในวันที่ 23 พ.ค. ไม่ใช่การสร้างประเด็นดรามา แต่ต้องการผลักดันให้สังคมรับทราบถึงปัญหาความขาดแคลนในระบบสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมา มีการตั้งรับการป้องกันโรค แต่ก็ไม่สำเร็จ เห็นได้จากช่วง 14 - 15 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ในหอผู้ป่วยมีความแออัด เพราะรับคนไข้มากกว่าจำนวนที่รับได้ เพราะไม่สามารถผลักผู้ป่วยไปที่อื่นได้ บางรายเป็นคนไข้ที่ต้องได้รับเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นเครื่องที่ต้องอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. ทั้งนี้ จากความแออัดทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อหลังจากเข้ารับการรักษา ในขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่ส่วนมากทำงานกันติดต่อกัน 35 - 36 ชั่วโมง ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อไปด้วย ซึ่งความแออัดของผู้ป่วยทำให้แพทย์ตาม รพ. ในมหาวิทยาลัย รพ.ศูนย์ และ รพ.จังหวัด มีการทำงานเกิน 24 ชั่วโมง แน่นอน 100% ซึ่งต้องเข้าใจว่าแพทย์ไม่ใช่เครื่องจักร ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีมาตรฐานเวลาที่แพทย์จะต้องทำงานไม่เกิน 8 - 12 ชั่วโมง แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ หากมีมาตรฐานก็ไม่สามารถทำได้เพราะจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น