xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์แพทย์คาดระบบสาธารณสุขพังพินาศใน 3-4 ปี เพราะเหตุนี้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://mdcu.flexiplan.co.th/en/home
อาจารย์แพทย์ คาด ไม่แก้ระบบสาธารณสุข เชื่อ 3 - 4 ปี ระบบพังพินาศแน่นอน ชี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากกำหนดการรักษาแบบเหมาโหล ส่งเสริมสุขภาพไม่สำเร็จ เจ็บป่วยหนักถึงกลับมา รพ. ย้ำปรับการบริหารจัดการ สปสช.ดีกว่าแก้กฎหมาย

วันนี้ (19 พ.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุขในอีก 3 - 4 ปีข้างหน้า ระบบจะพังพินาศ ความหวังที่จะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็จะไม่เกิด ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเจ็บป่วยไม่มากพอไปพบแพทย์ต้องรอนาน ก็ทำให้ไม่อยากไปพบแพทย์อีก จะกลับมาเมื่อป่วยหนัก ทำให้โรงพยาบาลมีความแออัด เต็มไปด้วยผู้ป่วยหนัก เมื่อไม่พอใจผลการรักษาก็นำมาสู่วงจรการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรลาออกจากระบบราชการ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่ง คือ ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการตั้งองค์กร ส. จำนวนมาก แต่ก็เห็นแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ และมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีการกำหนดว่าโรคกลุ่มนี้ต้องตรวจอะไร รักษาอย่างไร ด้วยเงินเท่าไร หากไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดก็จะไม่สามารถเบิกเงินจาก สปสช. ได้ เพราะถือว่าไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา สมมติรักษาไป 100 บาท เบิกแล้วอาจได้เงินคืนมาเพียง 50 บาท ในวงการเรียกว่าชักดาบ

“ปัจจุบันในหลายๆ โรงพยาบาลจำเป็นต้องจ้างกลุ่มคนมาทำรายงานเรื่องการเบิกเงินค่ารักษาจาก สปสช.โดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะทำให้ในสถิติโรคแห่งชาติผิดเพี้ยนไป การบริหารของ สปสช. แบบนี้เป็นระบบปลายปิด ในขณะที่โรงพยาบาลต้องให้การรักษาด้วยแนวทางที่ดีและเหมาะสมกับคนไข้ ไม่ใช่การรักษาเหมือนๆ กันแบบเหมาโหล” ศ.นพ.ธีนะวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทราบว่าขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ส่วนตัวมองว่าอาจไม่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการของ สปสช. ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ตัวเลขจากนักวิจัยท่านหนึ่ง พบว่า 2 ปีก่อนโรงพยาบาลขาดทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน สปสช. มีการใช้เงินที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยราว 1 หมื่นล้านบาท เช่นกัน รวมถึงงบบริหารจัดการของ สปสช. แม้จะบอกว่าใช้เพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบที่ได้รับ แต่ก็เป็นเงินราว 1.6 พันล้านบาท ดังนั้น การบริหารจัดการงบประมาณควรให้ความสำคัญกับคนไข้ที่นอนเตียงเป็นอันดับแรก หากงบในส่วนนี้ยังไม่พอก็ไม่ควรแยกงบประมาณเป็นกองทุนย่อยต่างๆ

“สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาตอนนี้ที่บอกว่าจะเพิ่มงบประมาณให้ร้อยละ 4 ทุกปี แต่มีการคำนวณโดยนักวิชาการพบว่า ถ้าให้ในอัตรานี้อีก 10 ปี งบสำหรับประกันสุขภาพจะคิดเป็นร้อยละ 25 ของจีดีพี ถามว่าถึงเวลานั้นใครล่ม ประเทศหรือเปล่า ซึ่งการเลือกทางออกถามว่าควรเลือกด้วยการให้คนรวยต้องจ่ายค่ารักษาเองอย่างสมเหตุผล หรือจะเลือกปรับปรุงการบริหารจัดการของ สปสช. ใหม่ในหลายๆ เรื่อง หรือจะหาแห่งเงินเพิ่มก่อน” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น