สสส. เปิดตัวนิทรรศการหมุนเวียน “ชราแลนด์ ดินแดนวันเดอร์เวิลด์” ช่วยกระตุ้นทุกคนเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 พร้อมชวนทดลองมีสภาพร่างกายแบบคนแก่ ช่วยเข้าใจวัยชรามากขึ้น
วันนี้ (18 พ.ค.) ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดตัวนิทรรศการ “ชราแลนด์ ดินแดนวันเดอร์เวิลด์” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่เด็กและเยาวชนเกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศไทย ตลอดจนเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ มีภารกิจในการเสริมสร้างความเข้าใจความรู้สุขภาวะให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยในปี 2560 สสส. ได้เน้นการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่กลุ่มประชากรทุกช่วงวัยตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้สูงอายุเป็นประเด็นหนึ่ง ที่ทาง สสส. ให้ความสำคัญ เป็นอย่างมาก ในครั้งนี้ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. พัฒนานิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง “ชราแลนด์ ดินแดนวันเดอร์เวิลด์” บริเวณชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 31 สิงหาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ทัศนคติ สัมพันธภาพที่ดี และความเข้าใจอันดีต่อผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ จะมีการเปิดโอกาสให้ได้ทดลองมีสภาพร่างกายในส่วนต่างๆ คล้ายผู้สูงอายุ เช่น การมองเห็นที่เลือนลาง การได้ยินที่ได้ยินไม่ชัดเจน และได้ต่อยอดนิทรรศการและสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่สังคม ผู้สูงวัยสำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน ได้แก่ นิทรรศการสัญจรเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณ ภายใต้แนวคิด “โชคชะตาหรือจะสู้ เรากำหนด” ในช่วงเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2560 และหนังสือการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ เรื่อง “พร้อมสุขก่อนเกษียณ (Aging Happily)” และหนังสือสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เรื่อง “ดูแลผู้สูงอายุ สร้างสุขในครอบครัว” ในเร็วๆ นี้
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทย ในปี 2558 มีจำนวน 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่า ในปี 2564 จะมีประชากรสูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) การเปลี่ยนแปลงทางประชากรสู่สังคมสูงวัยเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องตระหนัก โดยเฉพาะอัตราส่วนประชากรวัยทำงานต่อประชากรวัยสูงอายุ 1 คน ลดลงเรื่อยๆ โดยอีกไม่เกิน 15 ปี ประชากรไทยจะเริ่มเข้าสู่รูปแบบที่วัยแรงงานต้องรับภาระการเลี้ยงดูกลุ่มประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 4.5 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน (4 : 1) เป็นสัดส่วนประชากร วัยทำงานประมาณ 2 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน (2 : 1) ทำให้ครอบครัวจะต้องประสบกับปัญหาความเครียดจากภาระค่าครองชีพและภาวะหน้าที่ที่ต้องดูแลคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น
“สังคมควรให้ความสำคัญแก่การเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้สูงอายุ เนื่องจากสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ประกอบกับโรคข้ออักเสบ/ข้อเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ส่งผลต่อความยากลำบากในดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ การขึ้นลงบันไดหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัวเป็นปัจจัยให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ ดังนั้นการปรับที่อยู่อาศัยภายในบ้าน และบริเวณนอกบ้าน รวมถึงชุมชนและที่สาธารณะให้เอื้อต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การปรับห้องน้ำและห้องนอนให้มีราวยึดเกาะ การปรับโถส้วมแบบนั่งห้อยเท้า หรือห้องนอนที่ควรอยู่ชั้นล่างของตัวบ้าน ประตูที่กว้างพอสำหรับรถเข็น ก๊อกน้ำแบบก้านโยกที่สะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ” พญ.ลัดดา กล่าว
นางสาวณิชาภา แซ่โซว หรือ แวร์ โซว นักแสดงสาวสวยตัวแทนครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุไม่ได้เป็นเพียงการดูแลด้านสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่การให้ความรัก ความอบอุ่นภายในครอบครัวของทุกช่วงวัยก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การแสดงความรักโดยการกอด หรือการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวก็ส่งผลต่อจิตใจของผู้สูงอายุได้ เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุทั้งสิ้น โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ครอบครัวส่วนใหญ่ทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง เพราะตนเองต้องออกไปทำงาน ยิ่งทำให้จิตใจของผู้สูงอายุถดถอย การได้กลับไปใช้เวลาร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวควรทำ ยิ่งตอนตัวเองมีลูก (น้องคนดี) เราต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กสมัยนี้รู้จักดูแลผู้สูงอายุ เช่น การเปิดประตูรถให้ พาคุณยายไปหาหมอ การตักกับข้าวให้คุณยายก่อน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยหล่อหลอมความสัมพันธ์ในครอบครัว สังเกตได้จากคุณยายมีอารมณ์ที่แจ่มใสมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวมากขึ้น อย่างเวลาที่คุณยายได้อยู่กับหลาน คุณยายมักเล่าเรื่องคุณแม่ตอนเด็กๆ ให้หลานฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างวัยได้เป็นอย่างดี