สจล. ร่วมกรมขนส่งทางบก พัฒนาระบบ GPS Tracking และแอปพลิเคชัน TAXI OK ช่วยรู้ข้อมูลแท็กซี่ทุกคันวิ่งรับส่งผู้โดยสารไปที่ไหน แก้ปัญหาไม่รับผู้โดยสาร วิ่งนอกเส้นทาง โกงราคามิเตอร์ พร้อมฟังก์ชันปุ่มฉุกเฉินร้องเรียนเหตุอันตรายได้ทันที หวังพลิกโฉมบริการแท็กซี่ไทย
จากกรณีกรมการขนส่งทางบกเตรียมออกประกาศบังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันต้องติดตั้งระบบ GPS Tracking ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลของรถแท็กซี่ ผู้ขับขี่เข้ากับ ศูนย์บริหารจัดการเดินรถแท็กซี่ (ศูนย์ GPS) ของกรมการขนส่งทางบก (TAXI OK CENTER) ผ่านศูนย์ของนิติบุคคล สหกรณ์ หรือชมรมแท็กซี่ที่สังกัดอยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกระดับคุณภาพและแก้ปัญหาแท็กซี่ไทยที่มีการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
วันนี้ (17 พ.ค.) ในงานเสวนา “มิติใหม่ TAXI ไทย สะดวก - ปลอดภัย กว่าที่เคย” จัดโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า โครงการ TAXI OK ของกรมการขนส่งทางบกนั้น ทางศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สจล. ได้ร่วมกับคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการช่วยพัฒนาระบบในการเชื่อมข้อมูลแท็กซี่ทุกคันเข้าสู่ศูนย์ GPS และแอปพลิเคชัน “TAXI OK” ให้แก่กรมการขนส่งทางบก เพื่อเตรียมรองรับการออกประกาศดังกล่าว ซึ่งจะช่วยควบคุมกำกับความปลอดภัยของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับรถ และบริหารจัดการระบบเดินรถ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดีขึ้น
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวว่า การทำงานของแอปพลิเคชันแบ่งออกเป็น 7 ด้านสำคัญ คือ 1. ระบบจัดการภาพนิ่ง 2. ระบบแสดงตำแหน่งรถแท็กซี่ 3. ระบบแสดงความต้องการใช้แท็กซี่ 4. ระบบร้องเรียนและแจ้งเหตุฉุกเฉิน 5. ระบบตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถ 6. ระบบจัดการและประเมินศูนย์แท็กซี่เอกชน และ 7. ระบบจัดการและประเมินพนักงานขับรถ ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวจะนำมาใช้กับแท็กซี่มิเตอร์ทุกคัน ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีรถแท็กซี่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ยอดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560 ทั้งสิ้น 92,829 คัน ถือเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาการให้บริการของแท็กซี่ในประเทศไทย
“ระบบ GPS Tracking และแอปพลิเคชัน TAXI OK จะช่วยให้สามารถส่งค่าตำแหน่งพิกัดการเดินรถ ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ การแสดงตนของผู้ขับขี่ รายงานค่ามิเตอร์ และข้อมูลการจองรถ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับปุ่มเปิดปิดสถานะไฟว่าง กล้องบึนทึกภาพ ซึ่งจะมีการบันทึกภาพทุก 1 นาที และปุ่มฉุกเฉินรายงานเหตุฉุกเฉินแบบเรียลไทม์ ซึ่งใช้ได้ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ในการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายเพื่อการเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่แท็กซี่ไทยไม่เคยนำมาใช้ แต่เป็นรูปแบบที่ทั่วโลกใช้ควบคุมและได้ผลลัพท์ที่ดี โดยการส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย 3G ไปยังศูนย์ควบคุม คาดว่าประกาศดังกล่าวน่าจออกมาได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนแท็กซี่เก่าทั้งที่ไม่เคยติดตั้งหรือติดตั้งระบบคล้ายกันนี้ แต่ไม่เป็นไปตามประกาศจะอนุโลมให้เข้ามาติดตั้งภายใน 2-3 ปี อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ” รศ.ดร.เอกชัย กล่าวและว่า เชื่อว่า หากทำได้ตามแผนงานที่วางไว้ จะช่วยให้การควบคุม และป้องกันปัญหาต่างๆ ทั้งการไม่รับผู้โดยสาร การขับรถออกนอกเส้นทาง มิเตอร์โกงราคา หรือทะเลาะวิวาท และการคุกคามทางเพศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ รวมไปถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารแท็กซี่นั้น นอกจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว ยังต้องทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎระเบียบและกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดจากกรณีผู้โดยสารถูกไล่ลงจากรถกลางทางหรือโดนคุกคามทางเพศ ได้นำมาซึ่งการเรียกร้องให้หน่วยงานรับผิดชอบอย่าง กรมการขนส่งทางบก เพิ่มมาตรการในการคัดกรองหรือตรวจสอบผู้ที่จะมาขับแท็กซี่ เนื่องจากหลายกรณีเมื่อเกิดปัญหาและปรากฎเป็นข่าว พบว่าผู้ขับแท็กซี่บางคนมีพฤติกรรมไม่ดีหลายครั้ง หรือมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมในการขับรถให้บริการประชาชน ทั้งที่ในความเป็นจริงระบบการขึ้นทะเบียนคนขับแท็กซี่นั้นมีอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถคัดกรองหรือควบคุมได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากข้อจำกัดของระบบตรวจสอบทั้งจากหน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการให้เช่ารถแท็กซี่ก็ต้องการให้มีคนมาเช่ารถเพื่อเอาไปขับให้บริการ