xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอ ชี้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ศ.2560 บั่นทอนระบบซื้อยา จี้ออกกฎภาครัฐซื้อยาจาก อภ.ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วงเสวนา ชี้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2560 บั่นทอนระบบจัดซื้อยาทั้งประเทศ ปลุก อภ. ลุกขึ้นสู้ ให้กรมบัญชีกลาง - ก.คลัง ออกกฎกระทรวงให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อยาจาก อภ. ก่อนเอกชน รักษากลไกหลักความมั่นคงทางยาของชาติ

วันนี้ (17 พ.ค.) ในงานเสวนาเรื่อง “การยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เป็นการทำลายระบบสาธารณสุขของไทยจริงหรือไม่” ภญ.ศิริพร จิตประสิทธิศิริ อดีตประธานชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เดิมองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้รับการคุ้มครองโดยให้ส่วนราชการจัดซื้อยาไม่น้อยกว่า 60% และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่น้อยกว่า 80% รวมถึงการให้จัดซื้อยาจาก อภ. เป็นอันดับแรกหากราคาใกล้เคียงกันยกเว้นราคาสูงกว่ารายอื่นๆ เกิน 3% แต่ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไม่มีเรื่องเหล่านี้แล้ว

“หากเปิดเสรีให้ อภ. แข่งขันด้วยตัวเอง ต้องอยู่ด้วยตัวเองเช่นนี้ หาก อภ. อ่อนแอ หรือไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบยาทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมา อภ.เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยตรึงราคายาในประเทศไว้ แต่หาก อภ. อยู่ไม่ได้ ราคายาในประเทศไทยจะสูงขึ้นกว่านี้ โรงพยาบาลขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากยอดซื้อมีไม่มาก อำนาจการต่อรองต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยจะขาดแคลนยาจำเป็นที่มีผู้ผลิตน้อยราย ซึ่งปัจจุบัน อภ. รับหน้าที่ผลิตยาเหล่านี้แม้ไม่ทำกำไรก็ตาม” ภญ.ศิริพร กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังยา กล่าวว่า การเจรจาเขตเสรีการค้าที่ผ่านมา ทั้งเขตเสรีการค้าไทย-อเมริกา และ ไทย-ยุโรป ต่างมีข้อเสนอในเรื่องการเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยต้องเปิดให้บริษัทเอกชนต่างประเทศสามารถเข้าประมูลหรือเสนองานภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน แม้การเจรจาเขตการค้าเสรีจะล้มไปแล้ว แต่ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างกลับมีมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเจรจา TPP แม้การเจรจานี้จะล้มไป แต่กฎหมายก็ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาแล้ว ขณะที่ท่าทีของกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังก็เอนเอียงไปทางเอกชน เช่น การพยายามให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาบริหารงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ส่วนเรื่องยานี้เชื่อว่าบริษัทยาข้ามชาติก็วิ่งเต้นไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ มีข้อดีอย่างหนึ่งคือในมาตรา 65 เปิดช่องให้สามารถออกกฎกระทรวงยกเว้นได้ ดังนั้น ควรอาศัยช่องทางนี้ออกข้อยกเว้นเพื่อความมั่นคงด้านยา โดยกำหนดว่าหากหน่วยงานรัฐจัดซื้อยา หากราคายาต่างกันไม่เกิน 3% ให้จัดซื้อยาจาก อภ.ก่อน เพื่อให้ อภ.สามารถอยู่ได้ หรือหากไม่มีข้อยกเว้น รัฐก็ต้องจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการของ อภ.ให้สามารถอยู่ได้ ทั้งนี้ แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ใน ส.ค. 2560 แต่ก็มีช่องทางมาตรา 65 พวกเราต้องไปส่งเสียงให้กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางออกกฎกระทรวงยกเว้น ต้องไปบอกให้เขารู้เพราะเขาใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เขาไม่สนใจหรอกว่าจะซื้อยาแพงแค่ไหน แต่ประชาชนที่ต้องพึ่งบัตรทองจำเป็นต้องจัดซื้อยาในราคาที่เหมาะสม เราก็ชักชวนกันไปบอกอย่างสุภาพว่ามันจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง บอกว่าการออกกฎกระทรวงเพื่อการจัดซื้อยาของหน่วยบริการเป็นเรื่องจำเป็น ต้องส่งเสียงดังๆในจำนวนที่มากพอ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า อภ. เป็นกลไกความมั่นคงทางยาและจะปล่อยให้ล้มไม่ได้ หากกลไกนี้ล้มไปก็จะไม่มีคนตรึงราคายา ส่งผลให้ยาแพง งบประมาณรายหัวที่หน่วยบริการได้รับไม่เพียงพอที่จะซื้อยา ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพล้มตามไปด้วย สุดท้ายก็กลับมาให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายอีก การแก้กฎหมายนี้เป็นการทำลายระบบการผลิตยาในประเทศเลยนะ ทุกวันนี้เรามีบริษัทยาในประเทศกี่บริษัทเอง หากบริษัทข้ามชาติต้องการล้ม อภ. แค่ลดราคายาติดต่อกัน 5 ปี ถามว่า อภ. อยู่ได้ไหม แล้วถ้าไม่มีบริษัทยาในประเทศก็ต้องนำเข้ายา บริษัทข้ามชาติจะตั้งราคาเอาเท่าไหร่ก็ได้ ดังนั้นเราต้องสู้ต่อไป อย่างน้อยต้องผลักดันให้มีกฎกระทรวงหรือมีข้อยกเว้นแก่ อภ.เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว

“ประเด็นนี้ อภ. ต้องสู้จากเนื้อในก่อน แล้วผสานกับเครือข่ายภายนอก อภ.มีต้นทุนทางสังคมสูง เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของยา เป็นที่พึ่งของประชาชน อย่างไรเสียภาคีภายนอกก็ไม่ปล่อยให้ต้องสู้เพียงลำพังอยู่แล้ว แต่การต่อสู้ต้องออกมาจากเนื้อในก่อน เรื่องแบบนี้ฝากความหวังกับผู้นำแบบปัจจุบันไม่ได้จริงๆ ถ้าต้องการให้ผู้มีอำนาจแสดงออกที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้เราก็ต้องแข็งกร้าวและเสียงดังบ้าง ต้องยืนยันว่าเรื่องไหนยอมได้ เรื่องไหนยอมไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่ายอมไม่ได้” นายนิมิตร์ กล่าว

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า หากไม่มี อภ. ประชาชนตายแน่ๆ เพราะไม่มีคนตรึงราคายาให้ หากจัดซื้อยาจากบริษัทยาข้ามชาติด้วยงบประมาณรายหัวจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็คงไม่พอ สิ่งที่ตามมาคือโรงพยาบาลติดหนี้และหากติดหนี้มากๆ บริษัทยาไม่ส่งยาให้แล้วจะทำอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น