รพ.จุฬาลงกรณ์ ใช้เครื่อง “เลเซอร์อเบอร์โรมิเตอร์” ช่วยเพิ่มความแม่นยำรักษาผ่าตัดต้อกระจก สามารถวัดค่าสายตาขณะผ่าตัด ช่วยแพทย์เลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมได้
วันนี้ (16 พ.ค.) ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสิทนธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “รพ.จุฬาลงกรณ์ รักษาต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีล่าสุด แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ว่า รพ.จุฬาฯ มีแผนยุทธศาสตร์ ในการยกระดับความสามารถทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลของประเทศในด้านการบริการ ให้มีความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนด้วยความเชี่ยวชาญพิเศษ พร้อมด้วยเทคโนโลยีการรักษาชั้นสูงที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งฝ่ายจักษุวิทยาได้นำเครื่องมือวิเคราะห์ วางแผนก่อนผ่าตัดและกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล โดยเฉพาะเครื่องวัดเลนส์แก้วตาเทียม มาใช้ในขณะสลายต้อกระจก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยให้แม่นยำและสามารถมองเห็นได้ดียิ่งขึ้น
รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้นำเครื่องตรวจวัดค่าสายตาระหว่างการผ่าตัดแบบเรียลไทม์ เลเซอร์อเบอร์โรมิเตอร์ (laser Aberrometer) ที่มีความทันสมัย และแม่นยำ มาใช้ในการผ่าตัดรักษาโรคตาต้อกระจกเมื่อ พ.ย. 2559 โดยสามารถวัดค่าสายตาขณะกำลังผ่าตัดเพื่อให้แพทย์เลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับปัญหาสายตาของผู้ป่วยได้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีค่าสายตาใกล้เคียง 0 หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเพิ่มเวลาในการผ่าตัดสลายต้อกระจกอีกแค่ 1 - 2 นาทีเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการบวกเพิ่มค่ารักษาจากค่ารักษาปกติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมาก ยาวมาก เอียงมาก กระจกตาโค้ง และผู้ที่เคยทำเลสิกมาก่อน
รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวว่า การทำงานของเครื่องดังกล่าวจะประกอบด้วย
1. ชุดเครื่องมือวิเคราะห์วางแผนก่อนผ่าตัด และกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล แบ่งเป็นเครื่องวัดเลนส์แก้วตาเทียมรุ่นล่าสุดที่มีเลเซอร์ประกอบ สามารถวัดสัดส่วนดวงตาได้แม่นยำ และตรวจเช็กความผิดปกติทางจุดศูนย์กลางของจอรับภาพ และถ่ายภาพเส้นเลือดรอบกระจกตาเพื่อใช้ประกอบระบบดิจิตอล เครื่องวิเคราะห์ความเอียงของกระจกตา สำหรับวางแผนการเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อแก้สายตาเอียงและวัดกำลังของกระจกตาในการคำนวณค่าเลนส์
Reference Unit สำหรับถ่ายภาพดวงตาผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด พร้อมกับทำการวัดข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด เช่น ค่าความโค้งกระจกตา รูม่านตา แกนการมองเห็นของดวงตา ฯลฯ แล้วนำค่าที่ได้มาวิเคราะห์ วางแผนการผ่าตัดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
และ Digital Marker เครื่องกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล ข้อมูลผู้ป่วยแต่ละรายจาก Reference Unit จะถูกส่งผ่านมายังเครื่อง Digital Marker ซึ่งอยู่ในห้องผ่าตัด ขณะผ่าตัดเครื่องจะสร้างภาพระบบดิจิตอลให้แพทย์ทราบตำแหน่งที่จะสร้างแผลผ่าตัด กำหนดขนาดถุงหุ้มเลนส์ที่ต้องการเปิด กำหนดตำแหน่งและแกนของเลนส์เทียมที่ใส่ทดแทนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
2. เครื่องเลเซอร์ต้อกระจก (Femtosecond Laser) เป็นการนำเครื่องนี้เข้ามาช่วยเสริมในบางขั้นตอนของการผ่าตัดของต้อกระจกตามวิธีมาตรฐานที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ในการสลายเลนส์ตาที่ขุ่นมัวและดูดออก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลที่ได้จาก Reference Unit
3. เครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification machine) หลังจากทำการเปิดแผลขนาดเล็กที่กระจกตา ขนาดประมาณ 2 - 3 มิลลิเมตร เปิดถุงหุ้มเลนส์ และแบ่งเลนส์แล้ว แพทย์จะใช้เครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง โดยสอดหัวสลายและดูดต้อกระจกผ่านแผลที่กระจกตา เพื่อส่งผ่านคลื่นเสียงความถี่ สูงที่ทำให้เลนส์สลายและถูกดูดออกไปจากถุงหุ้มเลนส์จนหมด จึงจะทำการใส่เลนส์เทียมเข้าทดแทน ปัจจัยสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ การควบคุมสภาวะต่างๆ ภายในลูกตาให้คงที่ ทั้งความดันในลูกตา พลังงานที่ใช้ อุณหภูมิในลูกตา ฯลฯ เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น และปลอดภัย
และ 4. เครื่องตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัดแบบ Real-time (laser Aberrometer) เป็นเครื่องที่ใช้ในการตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัด สามารถวัดได้ทั้งก่อนใส่เลนส์เทียม ระหว่างการใส่เลนส์เทียมให้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ และเมื่อใส่เลนส์เทียมในตำแหน่งที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว เครื่องนี้จะเป็นการแนะนำ และยืนยันตำแหน่งของการใส่เลนส์เทียม องศาของเลนส์ และกำลังของเลนส์เทียมที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ค่าสายตาตามที่วางแผนไว้ ซี่งการใช้เครื่องในการตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัดแบบ Real-time ร่วมกับชุดเครื่องมือวิเคราะห์วางแผนก่อนผ่าตัดและกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล จะเป็นการร่วมกันในการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของการเลือกใช้เลนส์เทียม และการวางตำแหน่งเลนส์เทียม เพื่อให้ผลของการผ่าตัดออกมาได้ตามที่ต้องการอย่างดีที่สุด