โดย...พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์ แพทย์ด้านจิตเวช รพ.พระรามเก้า และครูสอนโยคะ
โยคะในปัจจุบันถูกประยุกต์มาเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งต่างกับโยคะแบบเดิมที่ฝึกลมหายใจและสมาธิเป็นหลัก แต่โยคะในปัจจุบันก็ยังคงไม่ทิ้งการฝึกลมหายใจเข้าให้ลึกและหายใจออกยาว หรือที่เรียกว่า “ปราณยามะ” ทำให้โยคะได้ประโยชน์ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งในแง่เสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย รักษาสมดุลร่างกายให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กันกับได้รับความผ่อนคลายจิตใจ
โยคะจึงช่วยให้มีสมาธิ มีสติ ทำให้คลายความเครียดคลายกังวล สามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ เพราะทำให้จิตใจมีความสงบเย็น สามารถควบคุมอารมณ์และปลดปล่อยอารมณ์อย่างถูกต้องได้ ควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ โยคะสามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าโยคะมีผลดีกับหลายๆ โรค รวมถึงโรคเบาหวาน บนสมมติฐานที่ว่าการฝึกลมหายใจ และท่าโยคะบางท่าควบคู่กันสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของเบตาเซลล์ของตับอ่อนได้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลิน (Insulin Sensitivity) จึงลดภาวะการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ได้ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งขณะอดอาหารและหลังรับประทานอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ การฝึกโยคะยังสามารถช่วยลดไขมันในร่างกายและเพิ่มมวลกล้ามเนื้ออีกด้วย
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัย พบว่า กลไกการควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ฝึกโยคะ มีการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน อีกทั้งเปลี่ยนระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด และยังทำให้ผู้ป่วยมีวินัยในการรับประทานยาเบาหวานอีกด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การฝึกโยคะ โดยฝึกปราณยามะ 30 นาที ตามด้วยท่าอาสนะ และปิดท้ายด้วยท่าศพ 15 นาที ผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายคนจะรู้สึกว่ามีสุขภาพที่ดีขึ้นภายใน 7 - 10 วัน และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยบางรายสามารถลดปริมาณยาได้ด้วย
ผลของการฝึกโยคะต่อร่างกาย ทำให้ลดไขมันใต้ผิวหนังและลดน้ำหนัก ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายรายมีสุขภาพที่ดีขึ้น และระดับน้ำตาลลดลง ผลของโยคะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่า ติดตามผู้ป่วยไป 7 ปี ผู้ป่วยเหล่านี้มีระดับน้ำตาลในเลือดที่ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน โดยติดตามผู้ป่วยระยะยาว 2 - 7 ปี พบว่าผู้ป่วยทั้งหมดระดับน้ำตาลลดลงภายใน 3 เดือน และสามารถลดยาลงได้ เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฝึกโยคะหรือหยุดฝึกไป
ผลของโยคะต่อภาวะแทรกซ้อน พบว่า การฝึกโยคะมีผลต่อระดับหลอดเลือดเล็กและใหญ่ ทำให้มีผลต่อการควบคุมความดันและระดับไขมันในเลือดด้วย โดยการฝึกโยคะในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง หลังจากฝึกไป 3 สัปดาห์ พบว่าระดับของความดันลดลง ใช้ยาควบคุมความดันโลหิตสูงลดลง และพบว่า ผู้ป่วยยังไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคที่เกิดจากไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
สำหรับระดับไขมันในเลือดหลังจาการฝึกโยคะท่าต่างๆ พบว่า ระดับ LDL ลดลง และเพิ่มระดับ HDL นอกจากนี้ โยคะยังมีผลต่อประสิทธิภาพของปอด ผลต่อระดับภูมิคุ้มกันในเซลล์ รวมทั้งผลในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในคนทั่วไป ในการศึกษานี้ยังบอกถึงกลุ่มท่าอาสนะ ท่าเรือ ท่างู ท่าคันไถ ท่าวีรบุรุษ ท่าธนู ท่าบิดตัว ว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ท่าอาสนะอื่นๆ ของโยคะที่ไม่พบว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือดก็ยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายในแง่อื่นๆ เช่นกัน และทั้งนี้ การทดลองในผู้ป่วยที่ได้ฝึกโยคะต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยที่มีผู้เข้าร่วมการศึกษาบางคนหยุดฝึกไปแล้วกลับเข้ามาฝึกใหม่ เมื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่า ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีเท่าผู้ที่เข้าฝึกโยคะต่อเนื่องตลอด 3 เดือน
หากอยากได้ผลตามการศึกษาดังกล่าว ควรฝึกโยคะอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อยควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบอื่นด้วย