โดย...นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
การที่รัฐบาลปฏิเสธการอนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้กับพยาบาลลูกจ้างสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 10,992 อัตรานั้น ทำให้เกิดคำถามและกระแสการกระแหนะกระแหนต่อรัฐบาลต่อเนื่องในช่วงรัฐบาลขาลง และที่สำคัญ ระเบิดเวลาที่ ครม. และ คปร. (คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ) โยนกลับมาให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ตำแหน่งว่างของกระทรวงเองจัดสรร ทำท่าจะบานปลาย
เรื่องกำลังคนในระบบสุขภาพนั้นซับซ้อน และมีความชุลมุนอย่างมาก จนทำให้มีการระเบิดออกให้เห็นเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้ สธ. มาแล้ว 22,641 อัตรา ทยอยบรรจุ 3 ปี ตั้งแต่ 2556 - 2558 นับเป็นการบรรจุ lot ที่ใหญ่มากในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ที่ ก.พ. มีนโยบายคุมกำเนิดกำลังคนภาครัฐ แต่ในรอบนั้นเป็นการบรรจุทุกวิชาชีพ ซึ่งก็มีความวุ่นวายมาก ว่าทำไมวิชาชีพได้บรรจุน้อย วิชาชีพนั้นไม่มีสิทธิบรรจุ มีทั้งม็อบ ทั้งการยื่นหนังสือ การประท้วงต่างๆ นาน แต่ก็ผ่านไปได้อย่างเหนื่อยล้า
ในรอบนี้ การที่ ครม. ตีกลับให้มาให้บรรจุพยาบาลโดยใช้ตำแหน่งว่างของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ย่อมเกิดปรากฏการณ์การขอแบ่งเค้กด้วยคนจากหลายวิชาชีพที่ก็ไม่ได้บรรจุเหมือนกัน โดยเฉพาะวิชาชีพสายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสหวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ นักการแพทย์แผนไทย นักอาชีวบำบัด นักวิชาการรังสี รวมถึงแพทย์ที่จบช้า และสารพัดนักวิชาชีพที่มีกว่า 30 สายงาน
การบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพนั้นยุ่งยากมาก ทั้งหลากหลายวิชาชีพและมีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีภาวะสมองไหลไปอยู่ภาคเอกชนมากน้อยตามแต่ภาวะเศรษฐกิจ มีปัญหาการกระจายและการคงอยู่ของบุคลากรสู่ชนบท มีปัญหาภาระงานเพิ่มขึ้นมากและความคาดหวังจากสังคมก็มากจนเกิดเป็นแรงกดดันในหน้าที่ ปัญหาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ที่ต้องตามให้ทัน รวมทั้งเรื่องสวัสดิการขวัญกำลังใจและสุขภาพของบุคลากรสายสุขภาพเอง เป็นต้น โจทย์พวกนี้คือทั้งหมดของภูเขาน้ำแข็ง การได้บรรจุนั้นเป็นหนึ่งในปัญหามากมายของภูเขาลูกนี้
ความจริงปรากฏการณ์การไม่บรรจุพยาบาลนั้น สำหรับผมแล้วไม่แตกต่างจากปรากฏการณ์ของการสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือจะซื้อหรือไม่ซื้อเรือดำน้ำ ทำไม?
เพราะปัจจุบันเราอยู่ในระบบรัฐราชการที่รวมศูนย์อย่างรุนแรง ในขณะที่วิวัฒนาการของโลกนั้นหมุนอย่างรวดเร็วไปสู่ยุคข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพที่เปิดกว้าง ในอดีตรัฐราชการจะจัดสรรโควตาบรรจุให้เท่าไร จะสร้างกี่โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะซื้อเรือดำน้ำซื้อรถถังมากน้อย ทุกคนต่างไม่มีปัญหา เพราะไม่มีใครรับรู้ข้อมูล และถึงรู้ก็มีช่องทางเพียงเล็กน้อยในการแสดงออก แต่วันนี้การเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น อีกทั้งทุกคนมีสื่อในมือ ทุกกลุ่มมีเครือข่ายที่ช่วยกันเรียกร้องความเป็นธรรมได้ การจัดการแบบเก่าๆ คือ แบบรัฐราชการตัดสินใจให้ด้วยความปรารถนาดีแต่ไม่มีส่วนร่วมนั้น จึงกลายเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะเรื่องยากๆ ซับซ้อนที่ไม่ถูกผิดชัดเจนเหล่านี้ ตัดสินใจแบบรวมศูนย์นั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายผิดพลาดมากกว่าการเปิดพื้นที่ให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและร่วมกันตัดสินโดยผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ปัญหาการที่รัฐรีรอไม่บรรจุพยาบาล ปัญหาการที่รัฐผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินในขณะที่ประชาชนไม่เอา หรือประเด็นคุ้มไม่คุ้มสำหรับเรือดำน้ำ แท้จริงนี้คือ สัญญะของปัญหาประชาธิปไตยไทย
ประชาธิปไตยคือรูปแบบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมรับรู้ ร่วมตัดสินใจและติดตามแก้ปัญหาการตัดสินใจนั้นๆ ร่วมกัน เพราะพี่น้องพยาบาลไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้และตัดสินใจ เพราะพี่น้องในจังหวัดที่จะถูกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกปิดกั้นการรับรู้และการร่วมตัดสินใจ ความรู้สึกที่ไม่ได้ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้น ผลลัพธ์ว่าจะบรรจุกี่คนนั้นเป็นเรื่องรอง หัวใจคือกระบวนการมีส่วนร่วมและการเปิดพื้นที่ให้มีการแสวงหาทางออกร่วมกันด้วยเหตุและผล นี่คือประชาธิปไตยทางตรงที่สังคมไทยต้องช่วยกันสร้างตัวแบบขึ้นมา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี แห่ง มอ.ปัตตานี กล่าวเสมอประมาณว่า “ในโลกยุคใหม่ที่ซับซ้อน การเปิดพื้นที่กลาง หรือ space เท่านั้น ที่ปัญหายากๆ จะแก้ได้ space ที่ดีต้องเปิดกว้างเหมือนชานชาลารถไฟ คนสามารถสะดวกเข้ามาแจมมาร่วมขบวน หรือเดินจากไปก็ได้ รัฐต้องเป็นเหมือนนายสถานีที่คอยอำนวยความสะดวกและดูแลกติการ่วมจนเกิดฉันทามติของคนตรงนั้นในการแก้ปัญหาหนึ่งๆ แต่รัฐราชการต้องไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินใจแบบเผด็จการ เพียงแต่อำนายความสะดวกก็พอแล้ว”
พื้นที่กลาง หรือ space คือ พื้นที่ระดมความร่วมมือในการแก้ปัญหา ต่างกับ committee หรือ คณะกรรมการ ที่คนมีส่วนร่วมมีเพียงหยิบมือ แถมยังต้องเกรงใจประธานและผู้มีอำนาจมากมายเวลาจะให้ความเห็นอีกต่างหาก การแก้ปัญหาด้วยรูปแบบกรรมการ จึงมักไม่สำเร็จเพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบโลกยุคอนาล็อก ส่วนการเปิดพื้นที่กลาง คือ การแก้ปัญหาแบบโลกยุคดิจิตอลท่ามกลางปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้น การเปิดพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนทุกวิชาชีพมาร่วมแลกเปลี่ยนอย่างใจเย็นด้วยสุนทรียสนทนาเท่านั้น จึงจะพอมีความหวังในการแกปัญหากำลังคนด้านสุขภาพได้ ไม่ใช่การตัดสินใจฉับๆ จากผู้มีอำนาจ เพราะนั่นไม่ทำให้ปัญหาจบอย่างยั่งยืน อาจทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วซุกส่วนที่เหลือไว้ใต้พรมเท่านั้น