xs
xsm
sm
md
lg

WHO ประกาศกำจัด “ไวรัสตับ” ใน 13 ปี รพ.จุฬาฯ เตรียมจัดเสวนากระตุ้นผู้ติดเชื้อรู้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอตับ จุฬาฯ ห่วงคนติดเชื้อไวรัสตับกว่า 80% ไม่รู้ตัวเอง พบติดเชื้อตอนโตมักเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน 99% หายเองและมีภูมิคุ้มกัน ชี้ องค์การอนามัยโลก ประกาศกำจัดเชื้อให้หมดใน 13 ปี หลังมีแนวโน้มผลิตยาใหม่ๆ รักษา เตรียมจัดเสวนาให้ความรู้โรคไวรัสตับ 25 มิ.ย. นี้

ผศ.นพ.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี และซี เป็นปัญหาของทั่วโลกมานาน โดยประเทศไทยมีผู้ใหญ่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีราว 3% ส่วนในเด็กมีประมาณ 0.2% เพราะช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเด็กไทยทุกคน โดยรวมแล้วปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณ 3 ล้านคน ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมีประมาณ 2% หรือ 8 - 9 แสนคน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ พบว่า 80% ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสนี้ไม่รู้ตัวเอง ทำให้ไม่ได้เข้าสู่ระบบติดตามรักษา

ผศ.นพ.ปิยะวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการติดตามมานาน จนรู้ว่าไวรัสเข้าไปแบ่งเซลล์อย่างไรในเนื้อตับ ทำให้มีการผลิตยาออกมารักษา ยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเชื้อไวรัส ล่าสุด มีการพัฒนายากินรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ 90 - 100% โดยกินวันละ 1 - 2 เม็ดต่อเนื่อง 3 เดือน แต่ยังไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ก็อยู่ที่นโยบายรัฐว่าจะบรรจุหรือไม่ อาจจะต้องดูความคุ้มค่า ความจำเป็นของผู้ป่วย ส่วนไวรัสตับอักเสบบี เบื้องต้นมียาฉีด ยากินที่ช่วยให้ลดปริมาณไวรัสลงจนไม่ก่อปัญหาต่อเนื้อตับ แต่ต้องกินยา 5 - 10 ปี หรือตลอดชีวิต ยังไม่ถือเป็นที่พอใจของแพทย์และผู้ป่วย จึงมีการพัฒนายาใหม่เช่นกัน คาดว่า 5 - 10 ปี จะเริ่มมียาตัวใหม่ออกมา ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์เหล่านี้ องค์การอนามัยโลกจึงประกาศกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ให้หมดไปจากโลกได้ภายในปี 2030 หรืออีก 13 ปี ข้างหน้า สิ่งสำคัญต้องทำให้คนที่ยังไม่รู้ตัว รู้ตัวเองให้ได้

“เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การเจาะหู ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนที่มีเชื้อ และเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน แต่การติดต่อจากแม่สู่ลูกระหว่างคลอด มีเพียงไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น ไม่ติดต่อทางน้ำลาย การกินอาหารร่วมกัน การสัมผัสกันนั้น ยืนยันว่า ไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อตอนโต พบว่า 100 คน จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันทั้งหมด แต่ 99% หายได้เอง และมีภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมา มี 1% ที่มีเชื้อต่อเนื่องในร่างกาย ต้องรับการตรวจและรักษาจากแพทย์” ผศ.นพ.ปิยะวัฒน์ กล่าวและว่า ในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ จะจัดเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ตั้งแต่เวลา 07.00 - 16.30 น. ที่หอประชุมจุฬาฯ ค่าลงทะเบียนคนละ 300 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดบริจาคเข้าสมทบทุนผู้ป่วยโรคตับมูลนิธิคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ สอบถามข้อมูลได้ที่ 02-252-7839 Lind ID : liverunit ,E-mail : chulaliverunit@gmail.com.
กำลังโหลดความคิดเห็น