สรรพาวุธ เปิดฝึกพลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ - ราชรถพระนำ 441 นาย กำหนดแผนซ้อมย่อยต่อเนื่อง ต้นเดือน ต.ค. ซ้อมริ้วขบวนในพื้นที่จริง สนว. เริ่มตัดเย็บเครื่องแต่งกายโบราณ “ปัสตูแดงขลิบเหลือง” ใหม่ทั้งหมดให้สมพระเกียรติ
วันนี้ (15 พ.ค.) กรมสรรพาวุธทหารบก มีพิธีเปิดการฝึกพลฉุกชักราชรถ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมี พล.ท.อาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เป็นประธาน โดยมีครูฝึก และกำลังพลจริง และกำลังพลสำรองที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมพิธี
กรมสรรพาวุธทหารบกได้กำหนดกำลังพลในการฉุดชักราชรถ แบ่งเป็น 3 ส่วน รวมกำลังพล 441 นาย ดังนี้ ราชรถพระนำ รวม 79 นาย ประกอบด้วย ผู้กำกับราชรถพระนำ 1 นาย ผู้ควบคุมพลฉุดชักราชรถพระนำหน้า 1 นาย ผู้ควบคุมพลฉุดชักราชรถพระนำหลัง 1 นาย ผู้บังคับราชรถ 1 นาย พลฉุดชักหน้า 4 สายๆ ละ 14 นาย รวม 56 นาย และพลฉุดชักหลัง 2 สายๆ ละ 9 นาย รวม 18 นาย
สำหรับพระมหาพิชัยราชรถ ใช้กำลังพล รวม 222 นาย ประกอบด้วย ผู้กำกับพระมหาพิชัยราชรถ 1 นาย ผู้ควบคุมพระมหาพิชัยราชรถ หน้า 1 นาย ผู้ควบคุมพระมหาพิชัยราชรถหลัง 1 นาย ผู้บังคับราชรถ 2 นาย พลฉุดชักหน้า 4 สายๆ ละ 43 นาย รวม 172 นาย พลฉุดชักหลัง 4 สายๆ 22 นาย รวม 44 นาย และเจ้าหน้าที่ห้ามล้อ 1 นาย รวมทั้งยังมีกำลังพลสำรอง 30 นาย ในส่วนกำลังพลเกรินบันไดนาค รวม 110 นาย ประกอบด้วย จากริ้วขบวนที่ 1 สู่ ริ้วขบวนที่ 2 จำนวน 40 นาย จากริ้วขบวนที่ 2 สู่ริ้วขบวนที่ 4 จำนวน 50 นาย จากริ้วขบวนที่ 3 สู่พระเมรุมาศ 20 นาย และกำลังพลสำรอง 10 นาย
พลโท อาวุธ กล่าวว่า พิธีเปิดการฝึกพลฉุกชักราชรถครั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมและสร้างขวัญกำลังใจกำลังพล เนื่องจากต้องใช้เวลาในการฝึกนาน เพื่อให้ริ้วขบวนมีความพร้อมเพรียง สมพระเกียรติยศ ทั้งนี้ จะแบ่งการฝึกออกเป็น 2 ช่วง คือ การฝึกภายในของกรมสรรพาวุธที่จะแยกฝึกเป็นกำลังพลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถใช้สถานที่โรงเรียนทหารสรรพาวุธ ส่วนกำลังพลฉุดชักราชรถพระนำ ทำการฝึกที่กองพันสรรพาวุธซ่อมบำรุงเขตหลัง จ.สระบุรี จากนั้น 1 เดือน จะฝึกกำลังพลฉุดชักราชรถทั้ง 2องค์ร่วมกันที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
สำหรับการฝึกในช่วงที่ 2 กองทัพภาคที่ 1 จะเป็นผู้นำฝึกร่วมกับกำลังพลในริ้วขบวนที่ 2 ทั้งหมดประมาณ 2,000 นาย จากนั้นจะเป็นการฝึกซ้อมย่อยช่วงปลายเดือนกันยายนและเข้าซ้อมในพื้นที่จริงต้นเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม จะมีการทดสอบความแข็งแรงของกำลังพลฉุดชักทุกเดือน ถ้าหากร่างกายกำลังพลรายใดไม่พร้อมจะคัดออกแล้วใช้กำลังพลสำรองทดแทน
ส่วนการฝึกซ้อมจะใช้เครื่องช่วยฝึก ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุกขนาด 2.5 ตัน สำหรับจำลองราชรถพระนำ และ รถยนต์บรรทุก ขนาด 10 ตัน สำหรับจำลองพระมหาพิชัยราชรถ และ เกรินบันไดนาคจำลอง ส่วนท่าการฝึกกำลังพลฉุดชักราชรถ ได้แก่ ท่าเบื้องต้น ท่าหยิบเชือก ท่าวางเชือก ท่าถวายบังคม ท่าเดินตามปกติ ท่าหยุดจากการเดิน และท่าเดินประกอบเพลงพญาโศกลอยลม
“ในการฝึกซ้อมจะใช้รถยนต์บรรทุกทหารขนาด 10 ตัน จำลองแทนพระมหาพิชัยราชรถ และขนาด 2.5 ตัน แทนราชรถพระนำ สำหรับการฝึกกำลังพลฉุดชัดจะเน้นความสง่างามและพร้อมเพรียงในการเดิน ใช้ท่าจำนวน 7 ท่า อย่างถูกต้องแตกต่างจากวิธีฝึกกำลังพลเกรินบันไดนาคจะแตกต่างกัน เพราะอยู่ประจำจุด และวันนี้สำนักพระราชวังนำช่างมาวัดตัวกำลังพลเพื่อตัดชุดตามแบบโบราณ” พลโทอาวุธ กล่าว
ขณะที่ นายศุภกิตติ์ อ้อยเธียรชัย หัวหน้าฝ่ายคลังราชพัสดุพิธี กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง กล่าวว่า ในพิธีเปิดการฝึกพลฉุดชักราชรถ กรมสรรพาวุธทหารบกครั้งนี้ กองศิลปกรรม สนว. ได้นำร้านสมจิตต์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตัดเย็บเครื่องแต่งกายโบราณของกำลังพลฉุดชักราชรถในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙ เข้ามาดำเนินการวัดตัวกำลังพลฉุดชักเพื่อตัดชุดโดยถือเป็นครั้งแรก หลังจากนี้ จะกระจายไปวัดตัวเพื่อตัดชุดในสถานที่ที่มีการฝึกกำลังพลอื่นต่อไป เนื่องจากพระราชพิธีครั้งนี้จะมีการตัดเย็บเครื่องแต่งกายใหม่ทั้งหมด เพื่อให้งดงาม สมพระเกียรติ สำหรับรายการเครื่องแต่งกาย ประกอบด้วย ชุดฉุดชักราชรถพระนำ พระมหาพิชัยราชรถ เกรินบันไดนาค ประกอบด้วย เสื้อและกางเกงแดงปัสตูแดงขลิบเหลือง ถุงเท้าสีดำ และรองเท้าหนังสีด ชุดบังคับราชรถ ประกอบด้วย หมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดจุก เสื้อเข้มขาบไหม กางเกงมัสรูไหม ผ้ารัดประคดโหมดเทศ ถุงเท้าสีดำและรองเท้าสีดำ และชุดผู้กำกับ ผู้ควบคุม ประกอบด้วย หมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีดำยอดเกี้ยว เสื้อนอกขาวแบบราชการ ปลอกแขนทุกข์ ผ้าเกี้ยวลาย ผ้ารัดประคดแดงดอกขวา ถุงเท้าสีขาว รองเท้าหนังสีดำ โดยงานวัดตัวกำลังพลทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ร้านนำมาตัดเย็บชุดรูปแบบต่างๆ ให้แล้วเสร็จเดือนสิงหาคม ตามแผนดำเนินงานจะต้องแจกจ่ายเครื่องแต่งกายให้กำลังพลภายในกลางเดือนกันยายนนี้ คาดว่า การตัดเย็บชุดและแจกจ่ายเครื่องต่างกายเป็นไปตามแผน เนื่องจากร้านสมจิตต์มีประสบการณ์ตัดเย็บเครื่องแต่งกายโบราณในพระราชพิธีถวายพระเพลิงครั้งที่ผ่านมา