กรมสุขภาพจิตพัฒนา “สติบำบัด” สูตรเฉพาะของไทย ใช้บำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ติดสารเสพติด ควบคู่กับการใช้ยารักษา เผยอยู่ระหว่างวิจัยการันตีคุณภาพผลการรักษา เพื่อบรรจุสู่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมฯ มีนโยบายเร่งพัฒนาวิธีการแนวใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ และผู้ที่เสพสารเสพติด เพื่อลดการป่วยซ้ำให้ได้มากที่สุด วิธีการสำคัญ คือ ได้พัฒนาจิตบำบัดที่เรียกว่าสติบำบัด (Mindfulness based Therapy and Counseling : MBTC) เป็นผลสำเร็จ เป็นสูตรเฉพาะของไทย ใช้บำบัดทางจิตใจแก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลและผู้ป่วยติดสารเสพติดที่มีผู้ป่วย 240,000 กว่าคน ควบคู่กับการกินยา จะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมตัวเองได้ดี ความเครียดลดลง นับเป็นครั้งแรกของวงการจิตแพทย์ไทย โดยทีมงานที่ปรึกษาของกรมฯ ดำเนินการพัฒนามาจากประสบการณ์ องค์ความรู้จากกรมและจากสากล ซึ่งวงการจิตแพทย์ทั่วโลกยอมรับว่าการบำบัดทางจิตใจควบคู่กับการกินยา เป็นวิธีให้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน และแนะนำให้ใช้ ดีกว่าการกินยาอย่างเดียว ขณะนี้หลายประเทศให้ความสนใจและเริ่มนำวิธีการรักษาของไทยไปใช้แล้วเช่น พม่า ศรีลังกา แคนาดา ไต้หวัน เป็นต้น
“กรมฯ วางแผนจะผลักดันการรักษาด้วยสติบำบัดที่พัฒนาขึ้น เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างถ้วนหน้า ซึ่งจะต้องมีข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ว่าได้ผลจริง โดยกรมฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ประกันคุณภาพการบำบัดด้วยวิธีการนี้ ซึ่งแตกต่างจากการประกันการรักษาทางกายหรือทางยาไว้ 2 ประการ ได้แก่ 1. การรับรองมาตรฐานผู้ให้การบำบัด เพื่อประกันคุณภาพผู้บำบัด ประกันสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับบริการอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และ 2. การรับรองประสิทธิผลว่าได้ผลจริง โดยการศึกษาวิจัยผลตามเกณฑ์จริยธรรมมาตรฐานสากล ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างจัดระบบบริการและทำการวิจัยที่ รพ.จิตเวช 7 แห่ง ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี รพ.สวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และ รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ โดยประเมินทั้งผลการบำบัด ระยะเวลา และราคาที่เหมาะสม เพื่อยืนยันความเชื่อมั่นทางวิชาการว่าได้ผลจริง คาดว่า จะได้คำตอบในเร็วๆ นี้ ระบบประกันคุณภาพจิตบำบัดนี้ ถือว่าเป็นการบุกเบิกการรับรองคุณภาพการบำบัดทางจิตใจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การใช้ยารักษาในอนาคต เพื่อนำเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพของประเทศอย่างสมเหตุสมผล และจัดบริการแก่ประชาชนอย่างดีที่สุด” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิธีการรักษาผู้ป่วยโดยใช้สติบำบัดมีหลายสูตร แต่สูตรของไทยนั้น เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาและศาสตร์สมองกับประสบการณ์ของนักวิชาการกรมฯ มาใช้ร่วมกัน เน้น 2 อย่าง คือ สติในกายคือเรื่องสติที่รู้ตัวขณะทำกิจทุกอย่าง และสติในจิตที่จะพัฒนาเป็นการปล่อยวาง เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล จะมีอาการ 2 รูปแบบ คือ อารมณ์แปรปรวน และความคิดของผู้ป่วยมักคิดลบ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่น ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้ผู้ป่วยหวนกลับเป็นซ้ำ หรือใช้สารเสพติดซ้ำ แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับการฝึกสติ จะทำให้ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ปล่อยวางความคิดลบได้ สัมพันธภาพกับคนอื่นจะดีขึ้น ในการบำบัดจะใช้เป็นกลุ่มหรือรายบุคคลใช้เวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากทางตะวันตกที่ให้ความสำคัญที่สติในกายโดยใช้วิธีการฝึกโยคะสติ และสติในจิตที่ไม่แยกสมาธิกับสติ และไม่มีเรื่องสติกับสัมพันธภาพเป็นการเฉพาะ
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่าสำหรับมาตรการรับรองผู้ให้การบำบัดตามวิธีการของไทยมี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น คือ ดูแลผู้ป่วยได้ ผู้บำบัดต้องเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ของการทำสติบำบัด ฝึกการบำบัดโดยใช้คู่มือเป็นฐาน เข้าร่วมการเรียนรู้ในเครือข่ายผู้บำบัด และต้องฝึกจิตของตนเองเป็นเวลา 5 สัปดาห์ และระดับผู้บำบัดอิสระ ซึ่งต้องมีผลงานด้านการดูแลผู้ป่วย ศึกษาผู้ป่วยเฉพาะราย ฝึกวิปัสสนา เพื่อได้ผู้บำบัดที่มีคุณภาพ อันจะเป็นการสร้างหลักประกันแก่ผู้ป่วยว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ ขณะนี้กรมฯได้ให้การรับรองผู้บำบัดไทยระดับอิสระแล้ว 20 คน ระดับต้นกว่า 50 คน อยู่ระหว่างการรับรองอีกกว่า 100 คน ส่วนต่างประเทศได้รับรองผู้บำบัดในระดับต้น 20 กว่าคน อยู่ระหว่างรับรองให้ประเทศศรีลังกา 12 คน แคนาดา อีก 15 คน
“ผลการวิจัยในต่างประเทศพบว่า การรักษาโรคซึมเศร้า วิตกกังวล การติดสารเสพติด และโรคบาดแผลทางใจ หรือ พีทีเอสดี (PTSD) ด้วยยาควบคู่กับการบำบัดทางจิตใจด้วย ได้ผลดีมาก ป้องกันการป่วยซ้ ำหรือ เสพสารเสพติดซ้ำสูงถึงร้อยละ 70 แนวโน้มระยะยาวสามารถลดและหยุดการกินยาได้ จึงได้กำหนดให้เป็นมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยประเภทนี้ในหลายประเทศ นอกจากนี้สติบำบัด ยังใช้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งใช้กับญาติของผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ช่วยให้สามารถปรับตัวและดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น” นพ.ยงยุทธ กล่าว