xs
xsm
sm
md
lg

ตู้น้ำดื่ม ร.ร.สกปรก ทำน้ำปนเปื้อนแบคทีเรีย จี้ทำความสะอาดก่อนเปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัย เผย น้ำจากตู้น้ำดื่มโรงเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ถึง 37% ส่วนใหญ่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย แนะทำความสะอาดตู้น้ำดื่มในโรงเรียนรับเปิดเทอม เพิ่มความปลอดภัย

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำบริโภคโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพตรวจทางห้องปฏิบัติการ ปี 2558 พบว่า มีคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 37.5 ซึ่งพบการปนเปื้อนแบคทีเรียมากสุด ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลของนักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน เช่น การใช้แก้วน้ำร่วมกัน การไม่ล้างแก้วน้ำก่อนดื่ม การเทน้ำคว่ำถัง โดยใช้มือปิดปากถัง รวมถึงไม่มีการดูแลบำรุงรักษาตู้น้ำเย็น หรือเครื่องกรองน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ และไม่ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรอง หรือล้างย้อนตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ การปนเปื้อนจากการขนส่งและการเก็บรักษา ถังน้ำดื่ม รวมถึงโรงเรียนใช้น้ำจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และปัญหาไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช็อต เนื่องจากไม่ติดตั้งสายดิน ตลอดจนความเฉอะแฉะของจุดตั้งตู้น้ำดื่ม

“ก่อนเปิดเทอม เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยของนักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน รวมถึงผู้ที่เข้ามาติดต่อที่โรงเรียน ผู้ดูแลตู้น้ำดื่มต้องทำความสะอาดให้พร้อมใช้งาน โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยการปิดสวิตช์ ถอดปลั๊ก ระบายน้ำที่ค้างในตู้ออก นำถาดพลาสติกในช่องคว่ำน้ำออกไปทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เทน้ำร้อนลงในช่องคว่ำถัง ทิ้งไว้ 2 - 3 นาที แล้วขัดด้วยฟองน้ำ ระบายน้ำทิ้ง เติมน้ำร้อนอีกครั้ง ทิ้งไว้ 2 - 3 นาที หรือใช้คลอรีน 60 เปอร์เซ็นต์ ต้องผสมในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 2 - 3 นาที ปล่อยน้ำทิ้งแล้วล้างด้วยน้ำเปล่า” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ดนัย กล่าวว่า ส่วนการคว่ำถังน้ำตู้น้ำดื่ม ต้องปิดสวิตช์ ถอดปลั๊ก ระบายน้ำที่ค้างในตู้ออก เช็ดถังน้ำในส่วนคอขวด และส่วนที่สัมผัสกับตู้น้ำดื่ม ด้วยผ้าสะอาดหรือแอลกอฮอล์ คว่ำถังลงบนตู้น้ำดื่ม โดยไม่เอามือจับปากขวดและบริเวณที่จะสัมผัสน้ำในตู้น้ำดื่ม ทดสอบการไหลของน้ำ และเสียบปลั๊ก เปิด สวิตช์ใช้งาน และควรล้างเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยและไม่ปนเปื้อนแบคทีเรีย
กำลังโหลดความคิดเห็น