xs
xsm
sm
md
lg

สธ.รักษาฟรีผู้บาดเจ็บเหตุบึ้มปัตตานี เผยอาการปลอดภัยทั้งหมด เร่งส่งทีมสุขภาพจิตดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผย ผู้บาดเจ็บเหตุบึ้มบิ๊กซี ปัตตานี ทั้ง 57 คน ปลอดภัยทุกราย เหลือนอนรักษาตัว 23 ราย ย้ำ ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมส่งทีมสุขภาพจิต ดูแลทั้งผู้บาดเจ็บ ญาติ เน้นกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ

วันนี้ (10 พ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีการให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดห้างบิ๊กซี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปัตตานี รายงานว่า มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 57 คน รักษาตัวที่ รพ.ปัตตานี 56 คน ส่วนอีก 1 คน มีแผลที่ท้ายทอยอาการสาหัส ได้ส่งตัวรักษาไปยัง รพ.สงขลานครินทร์ อาการปลอดภัยแล้ว ขณะนี้ยังคงมีผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ปัตตานี จำนวน 23 คน ส่วนที่เหลือกลับบ้านแล้ว โดยให้การรักษาไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ สธ. ได้ส่งทีมสุขภาพจิต ประกอบด้วย ทีมแพทย์จาก สสจ.ปัตตานี ออกให้การตรวจรักษาและให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เพื่อคลี่คลายความวิตกกังวล โดยแบ่งการดูแลเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ ผู้ที่อยู่บริเวณรอบๆ ที่เกิดเหตุ ผู้ที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ และ ผู้บาดเจ็บ ซึ่งจะเข้าไปติดตามอาการที่บ้าน พร้อมกันนี้ ได้ให้ทีมหมอครอบครัวติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และจะทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

วันเดียวกัน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผอ.รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุคาร์บอมบ์ที่บริเวณห้างบิ๊กซี จ.ปัตตานี ที่นอนพักรักษาตัวใน รพ.ปัตตานี โดย น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การดูแลจิตใจผู้บาดเจ็บในระยะเร่งด่วนนี้ กรมฯ ได้จัดทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช หรือทีมเอ็มแค็ท (MCATT) ดูแลจิตใจผู้บาดเจ็บทุกราย เบื้องต้นร่วมกับทีมของ รพ.ปัตตานี และ สสจ.ปัตตานี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และบรรเทาความเจ็บปวดด้านจิตใจ ให้ปรับตัวกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตต่อไป ทั้งนี้ จะเน้นเป็นพิเศษในกลุ่มผู้บาดเจ็บที่มีจิตใจเปราะบาง มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบด้านจิตใจรุนแรง 5 กลุ่ม ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเวชเก่า ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว และผู้หญิงตั้งครรภ์ สำหรับในรายที่บาดเจ็บสาหัสอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู. 2 คน เป็นเด็ก 1 คน และ ผู้ใหญ่ 1 คน ทีมจะให้การดูแลจิตใจทั้งผู้บาดเจ็บและครอบครัวด้วย และจะประเมินสภาพจิตใจทุกรายอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่หากมีอาการไม่สบายใจ เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หายใจไม่อิ่ม รู้สึกใจสั่น ฝันร้าย หรือมีภาพเหตุการณ์ผุดหวนคืนมา หวาดผวาเมื่อเกิดเหตุการณ์เสียงดัง เช่น เสียงประทัด แต่ไม่ใช่เหตุการณ์จริง เป็นต้น ขอให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ขณะนี้ได้มีระบบบริการดูแลด้านจิตใจรองรับไว้แล้ว หรือโทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้บาดเจ็บที่กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านแล้ว กรมสุขภาพจิตจะมีเครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ ประกอบด้วย อสม. เจ้าหน้าที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล และ รพ.ชุมชน ติดตามเยี่ยมที่บ้านเพื่อเยียวยาจิตใจด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับแผนระยะกลาง และ ระยะยาว กรมฯ ได้มอบหมายให้ รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องวิกฤตสุขภาพจิตของประเทศ และศูนย์สุขภาพจิตเขตสุขภาพที่ 12 จัดหลักสูตรการเสริมสร้างพลังใจให้ประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม เช่น กลุ่มแม่บ้านที่สูญเสียผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชน เนื่องจากผลการศึกษาผลกระทบด้านจิตใจจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป มีบาดแผลทางใจร้อยละ 2.6 ซึ่งสูงกว่าคนทั่วไปที่พบได้ร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางจิตใจ รู้จักวิธีการผ่อนคลายความเครียด ประการสำคัญ เป็นการเปลี่ยนความสูญเสียให้เป็นพลังร่วมกอบกู้วิกฤต สามารถให้การดูแลตนเองเพื่อนบ้านและชุมชนไม่ให้มีความเครียดหลงเหลือและปรับตัวก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น