xs
xsm
sm
md
lg

อุบัติเหตุในต่างแดน !!/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ค่ำคืนวันหนึ่ง “เฉินเทียนอี้” หรือ “สรวง สิทธิสมาน” เจ้าลูกชายคนโตวัย 19 ปี โทรศัพท์มาจากเซี่ยงไฮ้ เล่าให้ฟังว่า ประสบอุบัติเหตุที่เวียดนาม แต่ได้เดินทางกลับเซี่ยงไฮ้แล้ว โทร.มาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ รวมถึงบาดแผล และความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับเป็นอีกประสบการณ์ชีวิตของเขาที่กำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ชีวิตที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เรื่อง “อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา” เป็นคำที่แม่เตือนบ่อยๆ แต่จะไม่มีวันขลังถ้าไม่ประสบเหตุด้วยตัวเอง และนี่น่าจะเป็นบทเรียนชีวิตที่ดีอีกครั้งผ่านเรื่องเล่าจากบทความชิ้นนี้ค่ะ
……………………………………..
เช้าวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2560 เช้าวันแรกหลังจากสอบกลางภาคเสร็จ ผมเดินทางไปสนามบินนานาชาติพู่ตง มหานครเซี่ยงไฮ้ จับไฟลต์ไปเยือนเวียดนามอีกครั้ง...
เนื่องจากการไปครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สร้างความประทับใจให้ผมเป็นอย่างมาก กลับมาไม่นานจึงเริ่มวางแผนการมาเที่ยวซ้ำที่เดิมอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ชักชวนกลุ่มเพื่อนที่สนิท ประกอบด้วย รุ่นพี่คนไทย 2 คน บวกเพื่อนชาวญี่ปุ่นอีก 2 คน รวมผมด้วยเป็น 5 คน โดยได้นัดหมายกับเพื่อนชาวเวียดนามที่เคยเป็นไกด์นำเที่ยวให้กับผมในครั้งที่แล้วเอาไว้ ให้มารับหน้าที่ในครั้งนี้อีกครั้ง
ในครั้งนี้เราใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน โดยวางแผนเที่ยวใน 3 เมือง คือ โฮจิมินห์ซิตี ใช้เวลา 2 คืน คือ คืนแรกและคืนก่อนกลับ เมืองดาลัตที่เคยไปมารอบที่แล้ว ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน และ มุยเน่...เมืองใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อนอีก 1 คืน
ไฮไลต์ของทริปนี้ ก็คือ มุยเน่ เมืองที่มีชายหาด ทะเลสาบ และ ทะเลทราย อยู่ในที่เดียวกัน
ครับ...ทะเลทราย...ผมเขียนไม่ผิดหรอก !
การท่องเที่ยวใน 4 วันแรก ถือว่าผ่านไปอย่างราบรื่น และสนุกสนานกันอย่างถ้วนหน้า แต่ละสถานที่ที่เราไปในครั้งนี้สร้างความพึงพอใจให้กับคณะทุกคน รวมทั้งตัวผม อาจจะมากกว่าครั้งแรกที่มาด้วยซ้ำ เพราะครั้งนี้มาหลายคนตั้งแต่ต้น จึงมีความเฮฮาประสาเพื่อนเป็นบรรยากาศพื้นฐาน
ปัจจัยสำคัญคือ ไค (Kai) เพื่อนรักชาวเวียดนามทำหน้าที่เจ้าบ้านดูแลทุกคนได้อย่างทั่วถึงและอบอุ่น ทั้งคอยประสานงานเรื่องการเดินทางและการจองที่พักตลอดจนที่กิน ซึ่งจะพาไปชิมอาหารท้องถิ่นในร้านที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ทุกคนเห็นถึงความตั้งใจที่แท้จริงของเขา ทำให้การท่องเที่ยวในครั้งนี้เป็นมากกว่าการท่องเที่ยว แต่เป็นการแสดงถึงมิตรภาพของกลุ่มเพื่อนเชื้อชาติแตกต่างกันที่โชคชะตานำพาให้มาเจอกันในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัย ECNU : East China Normal University พวกเราถ่ายรูปและวิดีโอมากมาย เพื่อบันทึกเอาไว้เป็นความทรงจำ...
....จนการเดินทางได้ผ่านมาถึงวันที่ 5 เกือบจะจบทริปอยู่แล้ว
วันนั้นพวกเราอยู่ในเมืองมุยเน่ เราเลือกที่จะเช่ามอเตอร์ไซค์ขับลุยไปในสถานที่ต่างๆ ที่มาร์กเอาไว้แต่แรก
แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็ได้เกิดขึ้น เมื่อรถมอเตอร์ไซค์คันที่ผมซ้อนท้ายอยู่ได้เข้ามาในเขตทะเลทราย และได้พลาดไปสะดุดกับหลุมเสียงดังโครมใหญ่ จนทำให้มอเตอร์ไซค์ลื่นล้มไถลไปกับพื้นไม่เป็นรูปเป็นร่าง...
หลังจากที่ควบคุมสติได้ ก็พบว่าขาข้างขวาของผมได้ถูกคันรถมอเตอร์ไซค์ทับเอาไว้อยู่ ผมพยายามดึงขาจนหลุดออกมาได้ในที่สุด แล้วหันไปช่วยรุ่นพี่คนไทยที่เป็นคนขับ ขาข้างขวาของเขาก็โดนคันรถมอเตอร์ไซค์ทับเอาไว้อยู่เช่นกัน ในขณะนั้นก็มีคนเวียดนามที่ขับรถผ่านมาพอดีช่วยเอาไว้อีกแรง หลังจากที่ผมเห็นขาของรุ่นพี่คนนั้นที่เพิ่งหลุดออกมาได้ ก็รู้ได้ทันทีเลยว่าพี่เขาน่าจะขาหักแน่ บริเวณรอบๆ แผลก็มีรอยถลอกมากมายและเลือดไหลไม่หยุด ผมจึงฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าลืมตรวจสอบแผลของตัวเอง ผมก้มลงสำรวจทั่วร่างกายตัวเองก็ใจหายวูบทีเดียว เพราะพบรอยแผลถลอกมากมายตามมือเท้า และข้อศอก แต่ที่ลึกและน่าจะสาหัสที่สุด ก็คือ บาดแผลบริเวณหัวเข่า ในเวลานั้นผมก็ได้รู้ตัวแล้วว่าเสียเลือดไปพอสมควร เนื่องจากมีอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
ในตอนนั้นผมได้แต่เดินตรงไปซ้อนมอเตอร์ไซค์อีกคันหนึ่งที่ Kai เพื่อนชาวเวียดนามขับอยู่ พลางคิดไปว่าโชคดีที่ใส่หมวกกันน็อกเอาไว้ มิเช่นนั้น ศีรษะคงได้รับการกระทบกระเทือนเป็นแน่
ไม่มีเวลาให้คิดมาก คณะเราขับตรงไปที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดในละแวกนั้น...
โชคไม่ดีที่บาดแผลของผมและรุ่นพี่เกิดขึ้นในสถานที่ที่เป็นทราย ทำให้มีเม็ดทรายจำนวนมากเข้าไปแทรกอยู่ทั่วไป บาดแผลจึงดูสกปรกมาก ทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อและอักเสบมากเป็นพิเศษ
หลังจากถึงโรงพยาบาล ผมก็ย้ำกับทั้งหมอและพยาบาล ว่า ให้ช่วยล้างแผลให้ดี เพราะเกรงว่าจะติดเชื้อในภายหลัง
แน่นอนว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศเวียดนาม ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย ทั้งหมอและพยาบาลยังไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ภาระทั้งหมดจึงตกไปอยู่กับ Kai ที่ต้องมาเป็นล่าม และวิ่งเต้นทำเรื่องต่างๆ
การทำแผลครั้งแรกในความรู้สึกของพวกเราไม่น่าจะอยู่ในระดับมาตรฐานที่เราเคยเห็น แต่ก็พอประทังไปได้ ทั้งของผมและของรุ่นพี่
เราตัดสินใจเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลที่เมืองโฮจิมินห์ซิตีอีกครั้ง เพื่อนชาวเวียดนามบอกว่านี่คือโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในเมือง
แผลของผมเป็นเพียงแผลถลอกภายนอก ไม่ได้แตกหักภายในแต่อย่างใด ทั้งความรู้สึกและหมอบอกเช่นนั้น แต่ในกรณีของรุ่นพี่นั้นโชคร้ายกว่า หมอบอกว่าจำเป็นจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด แต่กว่าจะเข้าสู่กระบวนการได้นั้น ก็ได้เกิดการผิดพลาดขึ้น เพราะตั้งแต่เวลาเรามาถึงที่โรงพยาบาลประมาณ 15.00 น. ผ่านไปจนถึง 20.30 น. ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าที่ควร
ในที่สุด หมอมาบอกว่าที่โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ารับการผ่าตัด...
เราจึงตัดสินใจย้ายไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่น แต่พอไปถึง กลับพบว่า มีคนไข้เข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก หากจะเข้ารับการผ่าตัดที่นั่นต้องรอจนถึงอย่างเร็วก็ 01.00 น. อีกหลายชั่วโมงทีเดียว
บวกลบคูณหารชั่งน้ำหนักดูแล้ว รุ่นพี่ผมจึงตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปรักษาที่ประเทศไทยในวันต่อมา
ส่วนตัวผมก็ตัดสินใจซื้อชุดเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับทำแผลมาเพื่อทำแผลด้วยตัวเอง โดยยังคงกลับเซี่ยงไฮ้ตามกำหนดเดิม
เมื่อมาถึงเซี่ยงไฮ้ ผมล้างแผลเองโดยใช้ความรู้และประสบการณ์สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งพบเห็นอาการมีบาดแผลถลอกปอกเปิกไปจนถึงขาหักแขนหักไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มีให้เห็นตลอด โดยเฉพาะช่วงฤดูกีฬารักบี้ฟุตบอล แผลกายน่ะไม่เท่าไร แต่แผลใจเกิดขึ้นกับผมตลอด 24 ชั่วโมงแรก ในหอพักนักศึกษานานาชาติที่ ECNU ไหนจะความวิตกจริตว่าแผลอาจจะติดเชื้อ ไหนจะอาการเดินที่ไม่สะดวกเอามากๆ เนื่องจากแผลใหญ่ที่หัวเข่าและเท้าขวา ทำให้จะขยับไปหาอาหารการกินแต่ละมื้อ หรือแม้แต่เข้าห้องน้ำแต่ละทีน้ำตาแทบไหลริน โดยเฉพาะห้องน้ำในห้องที่แคบพอดีตัวชนิดขาไม่เจ็บก็หมุนตัวได้ไม่ถนัดนักอยู่แล้ว เล่นเอาถ้าไม่ปวดถึงที่สุดจริงๆ ผมจะไม่ขยับเข้าไป รวมถึงอาการคิดถึงบ้านที่แว่บเข้ามาอย่างรุนแรง สมองคิดว่านี่ถ้าอยู่บ้านอย่างน้อยก็มีพ่อ แม่ อาม่า และน้องชาย คอยเป็นเพื่อนและช่วยเหลือได้บ้าง อีกประการก็ไม่อยากรบกวน หรือขอความช่วยเหลือเพื่อนรูมเมทที่มีภาระรัดตัวกันด้วย
ผมจึงตัดสินใจโทร.หาคุณแม่เพื่อหารือและบอกเล่าความรู้สึกทุกอย่าง ครอบครัวเรามีอะไรบอกกันหมดอยู่แล้ว
พอคุณแม่ฟังเรื่องราวทั้งหมดก็ตัดสินใจหาตั๋วไฟลต์เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นให้กลับไทยชั่วคราวทันที ประมาณ 10 โมงเศษวันรุ่งขึ้น หลังวันเกิดคุณพ่อ 1 วัน ผมก็ได้เข้ามาอยู่ในห้องผู้ป่วยอุบัติเหตุที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ใกล้บ้านเพื่อดูแลแผลกายให้เรียบร้อยไร้กังวล
ส่วนแผลใจนั้น นับแต่ล้อเครื่องบินแตะรันเวย์สนามบิน มันก็สมานไปหมดไม่เหลือริ้วรอยแล้วล่ะครับ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจมองว่าเป็นเคราะห์ร้าย
แต่จะว่าไปก็ไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องเลวร้ายเท่านั้น เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่า “เราจะพบมิตรแท้ได้ในยามที่เราลำบาก” ซึ่งในวันนั้นผมได้พบแล้ว เพื่อนทุกคนทั้งไทย ญี่ปุ่น และ เวียดนาม ที่อย่างน้อยก็ไม่ทิ้งกันในยามที่ผมและรุ่นพี่ได้ประสบอุบัติภัย แถมยังดูแลผมได้อย่างดีมากเลยทีเดียว และที่ต้องขอบคุณมากที่สุดก็คงจะเป็น Kai เพื่อนรักชาวเวียดนามของผมนั่นเอง ที่นอกจากจะคอยวิ่งเต้นแปลภาษาให้คนเจ็บอย่างผมแล้วนั้น ยังให้บ้านของเขาเป็นที่พักอาศัยกับพวกเราอีกด้วย ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่า ถ้าหากไม่มี Kai ขึ้นมา พวกเราจะเป็นอย่างไรกันบ้าง
บทเรียนที่จะขออนุญาตเตือนทุกคนที่มีจิตใจรักในการท่องเที่ยวรูปแบบของการผจญภัย อย่าลืมที่จะระวังและรักษาตัวให้ดี เพราะถ้าเกิดกรณีอย่างผมขึ้นแล้ว ก็จะสร้างความลำบากให้ทั้งกับตัวเองและผู้อื่นไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะในต่างแดน และที่สำคัญคือ อย่าประมาท เพราะการประมาทเป็นหนทางที่จะเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น โดยกรณีของผมก็เป็นเหตุที่เกิดจากความประมาทเช่นกัน
สุดท้ายนี้อยากจะขอแนะนำให้ผู้ที่รักการท่องเที่ยวในต่างแดน ซื้อประกันสำหรับป้องกันการเกิดเหตุฉุกเฉินในต่างประเทศ จะช่วยได้อย่างดีเลยเชียว
กำลังโหลดความคิดเห็น