xs
xsm
sm
md
lg

รพ.รามาฯ ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด “สมอง” แผลเล็ก-คลาดเคลื่อนน้อย ลดเสี่ยงผิดพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.รามาฯ ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดสมอง ความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 1 มม. ลดเสี่ยงผ่าตัดผิดพลาด เกิดแผลเล็กช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ใช้รักษาผู้ป่วยเนื้องอกสมอง เส้นเลือดโป่งพอง ลมชัก พาร์กินสันที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา

วันนี้ (8 พ.ค.) ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “รามาธิบดีกับความสำเร็จ : หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองแห่งแรกในเอเชีย” ว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางโรงพยาบาลได้มีการนำหุ่นยนต์ผ่าตัดกระดูกสันหลังเข้ามาใช้ก็พบว่าประสบความสำเร็จ โดยครั้งนี้ทีมแพทย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ทำให้การผ่าตัดสมองในผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง ลดอัตราเสี่ยง ลดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดลงได้มาก ทั้งยังมีความแม่นยำในการผ่าตัดสูงด้วย ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของไทยและเอเชีย อย่างไรก็ตาม ค่ารักษายังค่อนข้างสูง โดยอัตราที่คิดเพิ่มจากค่ารักษาส่วนอื่นๆ จะอยู่ที่หลักแสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองเพื่อให้ราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม แม้สิทธิการรักษาไม่ครอบคลุมการรักษาดังกล่าว แต่โรงพยาบาลก็มีมูลนิธิที่คอยให้การช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่ ก็สามารถขอรับสิทธิได้ แต่ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของแพทย์

ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การผ่าตัดสมองเป็นความท้าทายในการรักษาผู้ป่วยของศัลยแพทย์ โดยเฉพาะการผ่าตัดผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองที่มีขนาดเส้นผ่าตัดศูนย์กลางเล็กกว่า 3 เซนติเมตร และมีความจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อออกมา ซึ่งมีความยากและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งการผ่าตัดปกติจะมีเพียงระบบเนวิเกเตอร์นำทางเพียงไปสู่เป้าหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยค่าความคาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 3 - 5 มิลลิเมตร (มม.) การนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาใช้ร่วมด้วย จะมีความแม่นยำสูง เพราะจะคำนวณระยะสู่เป้าหมาย แนวทางการเดินและวัดระยะต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพแม่นยำ จนทำให้ศัลยแพทย์สามารถวางแผนการผ่าตัดได้เป็นอย่างดีอย่างมีขั้นตอน โดยค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ไม่เกิน 1 มม. นอกจากนี้ การผ่าตัดยังเป็นแบบแผลเล็ก โดยเปิดแผลที่ผิวหนังเพียง 1 เซนติเมตร (ซม.) และแผลที่กะโหลกที่ 3 มม.

“การผ่าตัดสมองด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดจะทำในผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดโป่งพอง ภาวะลมชักในสมอง ภาวะพาร์กินสันที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้แล้ว ประสาทศัลยแพทย์จึงสามารถผ่าตัดได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลที่ศีรษะให้มีขนาดใหญ่เกินไปได้ เทคโนโลยีที่สำคัญนี้จะช่วยให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมีความปลอดภัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดสมอง ถ้ามีค่าความผิดพลาดในการผ่าตัดสูงก็ทำเป็นอัมพาต บางเคสอาจผ่าตัดผิดพลาดไปโดนเส้นประสาทส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของแขน ขา พูดไม่ได้ ตามองไม่เห็นและอาจจะเสียชีวิตได้” ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าว

ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการผ่าตัดมี 4 ขั้นตอน คือ 1. ถ่ายภาพ MRI ของสมองผู้ป่วย เพื่อให้ประสาทศัลยแพทย์สามารถกำหนดทางเข้าและเป้าหมายปลายทางได้อย่างง่ายดาย เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดต่อหลอดเลือดหรือ อวัยวะสำคัญๆ ในสมอง 2. ติดตั้งอุปกรณ์อ้างอิงบนศีรษะของผู้ป่วย เพื่อทำการลงทะเบียนสมองของผู้ป่วยจากเครื่อง CT ในห้องผ่าตัดกับภาพ MRI สมองของผู้ป่วย 3. การทำ Registration ระหว่าง CT สมองของผู้ป่วยแล้วกับภาพถ่าย MRI ของสมอง และ 4.หลังจากที่ประสาทศัลยแพทย์กำหนดทิศทางเป้าหมายการผ่าตัดและลงทะเบียนผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์จะขยับแขนของหุ่นยนต์ไปยังเป้าหมายที่ประสาทศัลยแพทย์วางแผนไว้จากนั้นประสาทศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดตามขั้นตอนอย่างปลอดภัย

ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าวว่า สำหรับเคสแรกที่ รพ.รามาธิบดี ผ่าตัดสำเร็จเป็นชายอายุ 77 ปี มีเนื้องอกที่สมองส่วนหน้าขนาด 2 ซม. ทำให้มีการอาการสับสน มึนงง ต้องรับการผ่าตัด แต่เนื่องจากผู้ป่วยเคยผ่าตัดเนื้องอกในสมองมาก่อน ทำให้การผ่าตัดครั้งนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง แต่เมื่อทำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ดังกล่าวก็พบว่าได้ผลดี มีความคลาดเคลื่อนเพียง 0.04 มม. ตอนนี้อยู่ระหว่างพักฟื้นเพื่อรับคีโมต่อไป สำหรับหุ่นยนต์ดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ในอาเซียนประเทศไทยซื้อเข้ามาเป็นประเทศที่สอง รองจากเวียดนาม แต่มีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นประเทศแรก




กำลังโหลดความคิดเห็น