ผอ.รพ.อุ้มผาง หนุนหลักการแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ให้สิทธิบัตรทองทุกคนบนแผ่นดินไทย ชี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีของโลก เป็นการทำ CSR ที่ฉลาดที่สุดและยังส่งเสริมการควบคุมป้องกันโรคอีกด้วย
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ให้ความเห็นถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในชั้นของคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ คณะที่ 2 ได้กล่าวถึงการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเหตุผล 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เรื่องการแพทย์เป็นเรื่องมนุษยธรรม หากมีคนเจ็บป่วยมาที่โรงพยาบาล จะอย่างไรก็ต้องช่วยอยู่ดี ดังนั้น ถ้ารัฐไทยช่วยเหลือให้การรักษาทุกคนบนแผ่นดินไทย จะเป็นตัวอย่างที่ดีของโลกว่าทุกประเทศในโลกควรทำเช่นนี้ และถ้าคนไทยไปเจ็บป่วยในประเทศอื่น ประเทศอื่นๆ ก็ควรกระทำเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยแสดงให้เห็น
2. เป็นการควบคุมโรคระบาดไม่ให้แพร่กระจาย เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บไม่มีพรมแดน โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสทางสังคม อาทิ คนต่างด้าวหรือชาวไทยภูเขาที่ไม่มีสัญชาติไทย หากเจ็บป่วยและไม่ได้รับการรักษา ก็มีโอกาสที่โรคจะแพร่กระจายไปยังคนอื่นได้ อย่างโรคอหิวาต์ หรือ วัณโรค ยังไงรัฐไทยก็ต้องให้การรักษาและปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องรักษาอยู่แล้ว ไม่ว่าคนไข้จะมีเงินหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นโรคที่ติดต่อคนอื่นได้และถึงชีวิต
และ 3. นอกจากกลุ่มชาวไทยภูเขาและกลุ่มคนไร้สัญชาติแล้ว โดยส่วนตัวเห็นว่าควรให้สิทธิการรักษาครอบคลุมไปถึงผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่แรงงานต่างด้าวซึ่งกลุ่มนี้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าสับสนตรงนี้ และคำว่าทุกคนบนผืนแผ่นดินก็ไม่ได้หมายถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ขอย้ำว่าอย่าสับสนเช่นกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่เห็นว่าควรให้สิทธิรักษาครอบคลุมไปถึงบุตร หรือผู้ติดตามแรงงานด้าว เนื่องจากประเทศไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแรงงานต่างด้าว ดังนั้น จึงควรคืนบางส่วนให้ในรูปของการให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลแก่บุตร หรือผู้ติดตามของแรงงาน ถือเป็นการทำ CSR ของประเทศที่มีความ Smart เป็นอย่างยิ่ง เพราะการให้การศึกษาและรักษาพยาบาลแก่บุตรแรงงานต่างด้าว นอกจากลดโอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตมาเป็นปัญหาสังคม เนื่องจากด้อยการศึกษาแล้ว ยังย้อนกลับไปถึงเหตุผลในการป้องกันและควบคุมโรคได้อีกทางหนึ่งด้วย
นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า การให้สิทธิรักษาพยาบาลคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย เชื่อว่า จะใช้งบประมาณเพิ่มไม่มากนัก เพราะต้นทุนที่เป็น Labour Cost อาทิ เงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ได้เพิ่ม มีเพิ่มในส่วนของค่ารักษา ค่ายา หรือค่าวัคซีนจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้รับคือช่วยในการควบคุมโรค นอกจากนี้ หากจะวิจารณ์หลักการนี้ว่าเป็นการเอาภาษีของคนไทยมาดูแลคนต่างด้าวก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะคนต่างด้าวทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทยก็เสียภาษีเช่นกันในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายผ่านการซื้อสินค้าต่างๆ มิใช่ไม่เสียภาษีเลยแต่อย่างใด