xs
xsm
sm
md
lg

10 วิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต เผย คนไทยมีปัญหานอนไม่หลับ 30 - 40% ผู้สูงอายุพบมากถึง 1 ใน 5 คน เตือนอย่ามองข้ามส่งผลอ่อนเพลีย เครียด หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงผู้สูงอายุหกล้ม แนะมีอาการเกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ ย้ำยึดหลัก 10 วิธี ช่วยนอนหลับดีขึ้น

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การนอนหลับเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อสุขภาพ เพราะเป็นช่วงที่สมองและร่างกายบำรุงซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ใช้ไปให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพในการทำงาน การนอนหลับที่เพียงพอช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ฟื้นสภาพรู้สึกสดชื่นแจ่มใส เป็นผลดีต่ออารมณ์ความรู้สึกในวันถัดไป โดยทั่วไปคนเราใช้เวลานอนหลับ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด คนส่วนใหญ่ต้องการนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนอาจนอนมากน้อยแตกต่างกัน ในกลุ่มของผู้สูงอายุต้องการนอนวันละ 7 - 8 ชั่วโมงไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเช่นกัน แต่ที่ผ่านมายังมีประชาชนบางส่วนเข้าใจว่าผู้สูงอายุต้องการนอนหลับน้อยกว่าคนวัยอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด

“ประชาชนทุกคนมีโอกาสเกิดปัญหานอนไม่หลับในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตได้ สถานการณ์ในประเทศไทยพบประชาชนไทยประสบปัญหานอนไม่หลับในช่วงกลางคืนหรือหลับไม่เพียงพอร้อยละ 30 - 40 และมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังร้อยละ 10 ส่วนในกลุ่มของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหานอนไม่หลับ เนื่องจากเซลล์ประสาทในสมองที่ควบคุมการนอนหลับเสื่อมสภาพและมีจำนวนลดลง กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการสำรวจขนาดปัญหาในระดับชาติครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2556 พบว่า ประสบปัญหาการนอนหลับในช่วงกลางคืนร้อยละ 22 หรือพบได้ 1 คน ในผู้สูงอายุทุกๆ 5 คน อาการที่พบมีทั้งเกิดเดี่ยวๆ ได้แก่ หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ กลางดึก ตื่นเช้ากว่าปกติ ง่วงระหว่างวัน และเกิดควบคู่กัน 2 อาการขึ้นไป เช่น หลับยากร่วมกับหลับๆ ตื่นๆ กลางดึก ผู้หญิงจะนอนไม่หลับสูงกว่าผู้ชาย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ผลกระทบจากการนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ จะเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดความเครียด อารมณ์หงุดหงิดง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การเรียน การตัดสินใจแย่ลง ในผู้สูงอายุอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่ายขึ้น หากเกิดในผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมอาจทำให้มีอาการรุนแรง ความจำสับสน หลงวันหลงเวลามากขึ้น ประชาชนจึงไม่ควรมองข้าม และขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้การรักษาตรงกับต้นเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ควบคู่กับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการนอน จะช่วยให้อาการดีขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นมาก การรักษาจะยากขึ้น

นพ.จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การนอนไม่หลับเป็นอาการ ไม่ใช่โรค ส่วนใหญ่มักจะมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ ปัญหาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ การใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ทานอยู่ประจำ และพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งต้องแก้ไขตามสาเหตุ สำหรับการป้องกันปัญหานอนไม่หลับและช่วยให้การนอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ 10 วิธี ดังนี้ 1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้เกิดความเคยชิน 2. ลุกจากที่นอนทันทีเมื่อตื่น การสัมผัสแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า ออกกำลังกายเบาๆ หลังตื่นนอน 10 - 15 นาที จะช่วยสมองและร่างกายตื่นตัว 3. อาบน้ำอุ่น ดื่มนมหรือดื่มน้ำผลไม้ อ่านหนังสือเบาๆ สมองประมาณ 10 นาที ก่อนนอน 1 - 2 ชั่วโมง และเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ตึงเครียด 4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นอย่างน้อยวันละ 30 นาที ช่วยลดความตีงเครียดร่างกายและอารมณ์

5. จัดห้องนอนให้มืด เงียบ สบาย ปลอดภัย อากาศถ่ายเทดี 6. ควรใช้ที่นอนเวลานอนกลางคืนเท่านั้น ไม่ควรทำงาน ดูทีวี หรืออ่านหนังสือบนที่นอน 7. หากเข้านอนแล้วยังไม่หลับภายใน 15 - 30 นาที ให้ลุกจากที่นอนและทำกิจกรรมให้ความเพลิดเพลิน เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เมื่อรู้สึกง่วงจึงกลับไปนอนใหม่ ไม่แนะนำให้ดูทีวี ดูข่าว เล่นคอมพิวเตอร์ เนื่องจากจะเร้าความรู้สึกตื่นตัว ทำให้นอนไม่หลับ 8. ไม่ควรงีบหลับในช่วงกลางวัน หากจำเป็นไม่ควรงีบเกิน 30 นาที 9. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ก่อนนอน ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เกินวันละ2 ครั้ง และ 10. รับประทานอาหารมื้อเย็นเบาๆ เช่น นม น้ำผลไม้ ไม่ควรดื่มน้ำมากก่อนเข้านอน เพราะจะให้ปวดปัสสาวะบ่อย รบกวนการนอนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น