สบส. เผย ตรวจสอบคลินิกย่านพระราม 9 ผ่าตัด “วีไลน์” ทำคนไข้ตาย ยันสถานพยาบาลได้มาตรฐาน แต่อาจเกี่ยวมาตฐานวิชาชีพ ต้องให้แพทยสภาตรวจสอบ ย้ำตรวจมาตรฐานคลินิกประจำปี 60 ขึ้นบัญชีต้องระวังเป็นพิเศษ
จากกรณีญาติผู้เสียชีวิตร้องเรียนหลังพบศัลยแพทย์รายหนึ่ง ซึ่งเคยตกเป็นข่าวทำพริตตี้สาวเสียชีวิต จากอาการแพ้ยาสลบขณะผ่าตัดที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2557 และกลับมาเปิดคลินิกแห่งใหม่ ย่านพระราม 9 และทำการผ่าตัด “ใบหน้าเรียว” หรือ “วีไลน์” จนคนไข้เสียชีวิตเป็นรายที่สอง ซึ่งทำการผ่าตัดก่อนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพให้ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล
วันนี้ (4 พ.ค.) นพ.วิศิษฏ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของสถานพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในย่านพระราม 9 พบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวมีนิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล ประเภทคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม ศัลยกรรมตกแต่ง โดยมี นายแพทย์อายุ 56 ปี ที่มีวุฒิบัตรด้านศัลยกรรมตกแต่ง เป็นแพทย์ผู้ดำเนินการประจำสถานพยาบาล โดยสถานพยาบาลดังกล่าวได้ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตประกอบกิจการฯ มาที่ สบส. เมื่อ ก.พ. 2558 และ สบส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลดังกล่าวใน มี.ค. 2558 ต่อมา ก.ค. 2558 ญาติผู้เสียชีวิตได้ส่งเรื่องร้องเรียนที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรณีผู้ป่วยเสียชีวิตโดยการผ่าตัดในสถานพยาบาล สบส. จึงส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า การเสียชีวิตผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสถานพยาบาล แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ซึ่งอยู่ในการควบคุมกำกับของแพทยสภา
“สบส. จะรวบรวมเอกสาร หลักฐาน นำเสนอต่อแพทยสภาเพื่อดำเนินการด้านจริยธรรม ซึ่งต้องรอผลการวินิจฉัยจากแพทยสภา ว่า มีกระบวนการรักษาที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาชีพหรือไม่ หรือเกิดจากโรคประจำตัวของผู้ป่วย ทั้งนี้ ในการตรวจมาตรฐานสถานพยาบาลประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนประจำปี 2560 ได้จัดให้สถานพยาบาลดังกล่าวอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีประวัติการรักษาที่เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ จะตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าวอย่างเข้มข้นว่ามีการดำเนินการตามเกณฑ์คุณภาพ มาตรฐานที่ พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2559 กำหนดครบทุกด้านหรือไม่ ทั้งด้านสถานที่ ต้องสะอาด สะดวก ปลอดภัย แพทย์ผู้ให้บริการ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้องตามกฎหมาย หรือต้องมีใบอนุมัติบัตรตามสาขาที่ขออนุญาตจากแพทยสภา การบริการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด, เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ มีคุณภาพ ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และความปลอดภัย หากพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง สบส. จะให้สถานพยาบาลดังกล่าวมีการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง หากยังไม่มีการแก้ไขจะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น” อธิบดี สบส. กล่าว
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้ประชาชนอย่าด่วนตัดสินใจเลือกรับบริการจากสถานพยาบาล เพราะการโฆษณา โดยเฉพาะจากสื่อโซเชียล หรือคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี ต้องตรวจสอบหลักฐาน และศึกษาให้แน่ชัดว่าสถานพยาบาลดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้สังเกตหลักฐาน 5 ประการที่สถานพยาบาลจะต้องแสดง ประกอบด้วย 1. มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการฯ 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ป้ายด้านหน้าสถานพยาบาล 2. มีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ และอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย 3. ใบชำระค่าธรรมเนียมสถานพยาบาลเป็นปีปัจจุบัน 4. มีป้ายแสดงอัตราค่าบริการชัดเจน พร้อมมีจุดให้สอบถามอัตราค่าบริการ และ 5. มีการแสดงป้ายชื่อพร้อมรูปถ่าย เลขที่ใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่หน้าห้องตรวจ - รักษา และเพื่อความมั่นใจให้ตรวจสอบชื่อสถานพยาบาล ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (http://www.mrd.go.th/mrd/) โดยให้พิมพ์ชื่อสถานพยาลให้ถูกต้อง ระบบก็จะแจ้งให้ทราบทันทีว่าสถานพยาบาลดังกล่าวได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่หากไม่พบชื่อให้สงสัยว่าสถานพยาบาลนั้นเป็นสถานพยาบาลเถื่อน ควรหลีกเลี่ยงการรับบริการ และให้แจ้งเบาะแสมาที่กลุ่มคลินิก สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2193-7000 ต่อ 18407 ทันที