xs
xsm
sm
md
lg

เร่งตั้ง คกก.5 ส่วน ซื้อยาจำเป็นแทน สปสช.ตั้งแต่ปี 2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เร่งตั้งคณะกรรมการ 5 ส่วน จาก สธ. สปสช. อภ. โรงเรียนแพทย์ และกลาโหม จัดซื้อยาจำเป็นตั้งแต่ปี 2561 แทน สปสช. หลังถูกท้วงโดย คตร. ด้าน กรรมการ สปสช. ชี้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบ แค่เพิ่มการต่อรองยาในสิทธิข้าราชการและประกันสังคม

จากกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เคยทักท้วงการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรณีจัดซื้อยาจำเป็นที่มีราคาแพงว่า ไม่สามารถจัดซื้อได้

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าว ว่า ตนได้เข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งต้องยึดหลักไม่กระทบต่อการใช้ยาของประชาชน ดังนั้น ในปีนี้ก็ให้ สปสช. ดำเนินการไป แต่ต้องรวบรวมข้อมูล เอกสารรายงานทั้งหมดให้โปร่งใส ว่า ยาซื้อไปจำนวนเท่าไร ใช้งบเท่าไร ต้องแจ้งให้หมด และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ส่วนปี 2561 ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 5 ส่วน คือ สธ. สปสช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) โรงพยาบาลสังกัดคณะแพทยศาสตร์ และกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะมีปลัด สธ. เป็นประธาน มาดูเรื่องการจัดซื้อยาดังกล่าว ยาส่วนนี้เป็นเพียง 4.9% ของยาทั้งประเทศ เหมือนจะไม่มาก แต่ด้วยการซื้อยาที่จำเป็น ทำให้ใช้งบประมาณสูงราว 9,000 - 10,000 ล้านบาท

“คณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีกระบวนการจัดซื้อตั้งแต่ปีนี้ เพื่อให้สามารถสั่งซื้อได้ภายในปีหน้า และในปี 2562 ก็ต้องชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะปี 2561 งานตรงนี้จะให้โอนกลับมาที่ สธ. เพื่อให้เป็นแกนกลางในการทำงาน แต่ต้องมี สปสช. และทุกภาคส่วนร่วมมือกันเหมือนเดิม” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เดิมที คตร. เคยทักท้วงมาว่า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่หากเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็สามารถดำเนินการได้ แต่อาจต้องแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ รมว.สธ. ให้ความสำคัญ และมีนโยบายให้ร่วมมือกันกับทุกภาคส่วน ทั้ง สปสช. สธ. อภ. โรงเรียนแพทย์ และกระทรวงกลาโหม ในการจัดซื้อยากลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด โดยเน้นย้ำว่า ต้องไม่กระทบต่อประชาชน กล่าวคือ การทำอะไรประชาชนจะต้องได้รับสิทธิตามเดิมหรือดีกว่าเดิม ดังนั้น ในปีนี้ สปสช. ก็ยังจัดซื้อยาตามรูปแบบเดิม แต่ในปี 2561 ก็จะทำงานผ่านคณะกรรมการร่วมทุกฝ่าย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สปสช. จะให้ความร่วมมือในการทำงานตรงนี้

“สำหรับยากลุ่มนี้แม้มีสัดส่วนไม่มาก แต่งบประมาณอยู่ที่ราวหมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นยาที่มีจำนวนการใช้ไม่มาก แต่มีความจำเป็นสูง ทั้งยาต้านพิษ รวมไปถึงวัคซีน ที่โรงพยาบาลจัดซื้อเองไม่ได้ เพราะจะต้องมีเรื่องการจัดเก็บ การควบคุมคุณภาพ จึงต้องเป็นส่วนกลางจัดซื้อและกระจายผ่านโรงพยาบาลใหญ่เป็นเครือข่ายจัดส่งต่อ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการ สปสช. กล่าวว่า ระบบเดิมดีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบ ทำไมไม่ให้ สปสช. ดำเนินการต่อไป และหากจะดำเนินการปรับปรุง ก็ควรจะเพิ่มในเรื่องการต่อรองราคายาในกองทุนที่เหลืออีก 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคมและกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อที่ให้ 2 กองทุนที่เหลือได้ซื้อยาราคาไม่แพงเกินไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น