xs
xsm
sm
md
lg

คลอด กม.ลูก 6 ฉบับ แก้ปมนวดไร้มาตรฐาน สปาพริตตี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส. คลอดกฎหมายลูก 6 ฉบับ ภายใต้ พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หวังสางปัญหาสปา นวดไร้มาตรฐาน ธุรกิจสีเทาแอบแฝงค้าบริการทางเพศ

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายลูก 6 ฉบับ ที่ออกตาม พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการออกกฎหมายลูกทั้ง 6 ฉบับในครั้งนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐาน และช่วยผลักดันธุรกิจสปา นวด สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ที่อยู่ในสายอาชีพนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และขจัดปัญหาธุรกิจสีเทา อาทิ การบริการทางเพศ ที่มักจะนำชื่อสปา หรือนวดมาแอบแฝงให้บริการทางเพศ โดยกฎหมายลูกทั้ง 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1. กฎกระทรวงกำหนดบริการอื่นในกิจการสปา พ.ศ. 2560 ว่าด้วยบริการ 29 ประเภทที่สามารถให้บริการร่วมในกิจการสปา ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้กิจการสปาที่มีการเสริมสร้างสุขภาพด้วยน้ำ และนวดร่างกายเป็นหลักมีบริการอื่นเสริมอีกอย่างน้อย 3 อย่าง

2. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการชำระค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต การต่ออายุ ค่าธรรมเนียมรายปีการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งคิดตามขนาดพื้นที่บริการ ใบอนุญาตผู้ดำเนินการสปา อาทิ ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตกิจการประเภทสปา ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ฉบับละ 1,000 บาท, กิจการประเภทนวดเพื่อสุขภาพและเสริมความงาม ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ฉบับละ 500 บาท และ ใบอนุญาตผู้ดำเนินการสปา ฉบับละ 1,000 บาท

3. กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการยื่นคำขอ การต่ออายุ การขอโอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 4. กฎกระทรวงการอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางการขออนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทสปา 5. กฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการฯ

และ 6. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการสปา และกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานของสถานประกอบการฯ ทั้งด้านสถานที่ต้องสะอาดมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจน, ด้านความปลอดภัยในการมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีระบบคัดกรองผู้รับบริการ, ด้านการให้บริการ ต้องแสดงรายการการและอัตราค่าบริการไว้ในที่เปิดเผย หรือสามารถตรวจสอบได้ที่จุดบริการ ให้มีเครื่องแบบสำหรับผู้ให้บริการ พร้อมป้ายชื่อผู้ให้บริการติดไว้ที่บริเวณหน้าอก และกำหนดเวลาให้บริการได้ตั้งแต่ 06.00 - 24.00 น.

“หากทุกฝ่ายร่วมกันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มั่นใจว่า จะช่วยยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน ของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพนับหมื่นแห่ง และบุคลากรในสายอาชีพนวดนับแสนรายทั่วประเทศ ทั้งยังช่วยส่งเสริมการนวดไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติ ที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ความสุภาพ อ่อนโยน ซึ่งสามารถพบได้จากฝีมือผู้นวดชาวไทยเท่านั้น ให้เป็นที่ยอมรับ และโด่งดังสู่ระดับสากล” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ, การขอใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสปา และการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการนวด กรม สบส. จะมีคำสั่งมอบอำนาจให้เป็นผู้อนุญาตแทนอธิบดีกรม สบส. ถึงกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการออกใบอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนได้เต็มรูปแบบ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2560 โดยเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน ณ กรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยสามารถตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบได้ที่เว็บไซต์กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (www.thaispa.go.th) และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอรับใบอนุญาต/ขึ้นทะเบียนทราบภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานครบถ้วน หากมีเหตุผลหรือความจำเป็นที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว อาจขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาต จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาต/ขึ้นทะเบียน ทราบ พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต และหากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูล สามารถติดต่อได้ที่กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ชั้น 4 กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18408, 18411 และ 18226
กำลังโหลดความคิดเห็น