คสรท. ย้ำ ค่าจ้างต่อบุคคลควรอยู่ที่ 360 บาทต่อวันต่อคน ส่วนค่าจ้างเหมาะสมต้องคำนึง 1 แรงงาน เลี้ยงดูครอบครัว 2 คนด้วย ให้เวลารัฐบาลพิจารณา 10 ข้อเรียกร้อง 1 - 2 เดือน หากไม่คืบหน้าจ่อทวงถาม “บิ๊กตู่” ด้าน สปส. พร้อมรับข้อเสนอเครือข่ายแรงงาน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานที่ต้องการให้ปฏิรูป สปส. เป็นองค์กรอิสระ ว่า สปส. พร้อมรับข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ โดยเรื่องการปฏิรูป สปส. ให้เป็นองค์กรอิสระ พื้นฐานจริงๆ คือ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน ซึ่งสปส. ก็มีการดำเนินการ โดยการรับฟังความคิดเห็นกรณีการแยกหน่วยลงทุนออกไป ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย และขณะนี้กำลังร่าง พ.ร.บ. กองทุนเพื่อการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นไปตามข้อเรียกร้องนั้น บอร์ด สปส. ซึ่งมีกรรมการจาก 3 ภาคส่วน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ก็จะทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาดำเนินการ อย่างการลงทุน ก็ต้องสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการลงทุน เป็นต้น และข้อมูลการลงทุนก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น โดยอาจเปิดเผยทุกไตรมาส ส่วนข้อเรียกร้องของผู้พิการสิทธิประกันสังคมที่หลายคนไม่ต้องการย้ายสิทธิไปยังบัตรทองตามคำสั่ง คสช. ได้ส่งเรื่องเพื่อสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาในวันที่ 4 พ.ค. นี้
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงอย่างเป็นธรรม คสรท. ไม่ได้ระบุตัวเลขว่าต้องจำนวนเท่าไร แต่ใช้ตัวเลขตามหลักสากลว่า คนงาน 1 คนต้องเลี้ยงดูครอบครัว 2 คน ซึ่งจุดนี้คณะกรรมการค่าจ้างต้องเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม แต่หากพูดถึงจำนวนตัวเลขรายบุคคล คสรท. ยืนยันที่ 360 บาทต่อคนต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา จะรอเวลาอีกประมาณ 1 - 2 เดือน หากยังไม่มีความคืบหน้า อาจขอเข้าทวงถามต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. กล่าวว่า ประเด็นที่ยังไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง คือ การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัว ซึ่งต้องไปด้วยกันทั้งหมด โดยฉบับที่ 87 จะเป็นเรื่องของการอนุญาตตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อมีสหภาพแรงงานขึ้น ก็จะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อสิทธิของแรงงานได้ เป็นไปตามฉบับที่ 98