กรมการแพทย์จัดทำทะเบียนมะเร็ง ช่วยติดตามเฝ้าระวังปัญหา “มะเร็ง” แต่ละพื้นที่ของไทย ด้านสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เร่งอบรมการทำทะเบียนมะเร็งขั้นพื้นฐาน ให้บุคลากรทางการแพทย์สาขาโรคมะเร็ง
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่โรงแรมอินทรา รีเจนท์ กทม. นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การทำทะเบียนมะเร็งขั้นพื้นฐาน” ว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้คนทั่วโลก และมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น องค์การอนามัยโลก พบว่า ในปี 2551 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 7.6 ล้านคน และเพิ่มเป็น 8.2 ล้านคน ในปี 2555 และคาดการณ์ว่า ปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 13 ล้านคน สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดแผนการจัดระบบสุขภาพโดยแบ่งเป็นเขตสุขภาพ 13 เขต มีการพัฒนาระบบบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขทั้งหมด 10 สาขา รวมถึงสาขาโรคมะเร็ง
นพ.ธีรพล กล่าวว่า กรมการแพทย์ จึงได้จัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งให้เหมาะสมกับโครงสร้างและทรัพยากรของประเทศ โดยหลักการสำคัญ คือ การป้องกัน คัดกรองและค้นหาโรคในระยะเริ่มแรก มีการรักษาและดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงการเฝ้าระวังติดตาม มีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งไว้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนอุบัติการณ์การเกิดโรคและการเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการประเมินปัญหาเพื่อนำไปสู่การวางนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งต่อไป
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดทำทะเบียนมะเร็งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ทำให้ทราบถึงอัตราการเกิดโรค อัตราการเสียชีวิต และแนวโน้มของการเกิดโรค เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนป้องกันควบคุมโรค ตลอดจนใช้ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ รับผิดชอบการจัดทำทะเบียนมะเร็งของประเทศไทยและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การทำทะเบียนมะเร็งขั้นพื้นฐาน” ระหว่างวันที่ 2 - 3 พฤษภาคม 2560 เพื่อให้บุคลากรที่รับผิดชอบด้านการจัดทำทะเบียนมะเร็ง อาทิ พยาบาล เจ้าหน้าที่เวชสถิติ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์จากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตพื้นที่บริการสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร สามารถเรียนรู้และสร้างทีมเครือข่าย รวมถึงฝึกทักษะต่างๆ ในการจัดทำข้อมูลทะเบียนมะเร็ง เช่น การเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรม Thai Cancer Base ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลการวินิจฉัย ข้อมูลทางพยาธิวิทยา และข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนไว้อย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาและดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้ทะเบียนมะเร็งตรงตามมาตรฐานของสถาบัน IARC (International Agency for Research on Cancer/WHO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับใช้อ้างอิงได้ทั้งในและต่างประเทศ